พื้นที่กว่า 6 ไร่ที่เห็นนี้ เป็นบ้านเกิดของ ยุทธ – ยุทธชัย กรีแสง ตั้งอยู่ในตำบลพระประโทน ใจกลางเมืองนครปฐม แต่พรหมลิขิตเจ้าขาไม่รู้เลยว่า สาวราชบุรีที่มีบ้านอยู่ห่างกันแค่ 10 กิโลเมตร นามว่า กิ๊บ – สาริสา นามสิน จากคนไม่เคยรู้จักกัน ได้มาเจอกันในรั้วมหาวิทยาลัย และตัดสินใจใช้ชีวิตวิถีเกษตรกรอินทรีย์ด้วยกันที่ฟาร์มเล็กในเมืองใหญ่ A Little Farmer Organic Farm แห่งนี้นี่เอง

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเกษตรกร ทั้งคู่ก็เป็นพนักงานบริษัทเอกชนในกรุงเทพฯ เหมือนคนทั่วๆ ไป พี่กิ๊บทำงานฝ่ายขาย ส่วนพี่ยุทธเป็นวิศวกร แต่ชีวิตคนเมืองก็กลับพลิกผันกระทันหันจนได้ เมื่อบุคคลคนสำคัญในครอบครัวล้มป่วย ทั้งคู่จึงตัดสินใจกลับบ้าน
“ความรู้สึกตอนนั้นเหมือนไม่ค่อยได้กลับบ้านมาดูแลครอบครัวสักเท่าไร จนกระทั่งคุณแม่ของพี่ยุทธป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง มันทำให้เราหันกลับมาดูชีวิตตัวเอง เราเป็นเซลล์ ทำงานวันจันทร์-วันเสาร์ กลับมาบ้านค่ำวันเสาร์ได้เเป๊บเดียว เช้าวันจันทร์ก็ต้องขับรถกลับกรุงเทพฯ ไปทำงานอีกแล้ว ชีวิตวนลูปอยู่แบบนี้ จนเริ่มถามตัวเองว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน จึงตั้งใจว่าจะทำงานเก็บเงิน แล้วกลับบ้าน มาดูว่าที่บ้านเรามีต้นทุนพอจะทำอะไรได้บ้าง”

1
เมืองหมู
บ้านพี่ยุทธตรงนี้ แต่เดิมเคยเป็นโรงเรือนเลี้ยงหมูเก่าแก่ที่เลี้ยงหมูมาตั้งแต่ยุคอากงอาม่า แม้ว่าปัจจุบันที่จะไม่ได้เลี้ยงหมูในบริเวณนี้แล้ว แต่กลิ่นอายเดิมๆ ของโรงเลี้ยงหมูเก่าก็ยังคงหลงเหลืออยู่
“เมื่อก่อนนครปฐมเป็น ‘เมืองหมู’ สำคัญของประเทศเลย คนนครปฐมเลี้ยงหมูมาตั้งแต่ 50 – 60 ปีก่อน มีทั้งหมูขุน หมูแม่พันธุ์ แต่ทุกวันนี้ถ้าขับรถมาจากกรุงเทพฯ จะเห็นว่าตรงนี้กลายเป็นชุมชนเมืองไปหมดแล้ว” จริงอย่างที่พี่กิ๊บว่า ระหว่างทางที่เราขับรถเข้ามา แทบไม่เชื่อว่าจะมีสวนเกษตรขนาดหลายไร่ของใครซ่อนตัวอยู่ในซอยเล็กๆ ที่ปากทางเป็นถนนใหญ่ เต็มไปด้วยอาคารพาณิชย์แบบนี้
เวลาผ่านไป นครปฐมค่อยๆ เปลี่ยนจากเมืองของหมูเป็นเมืองของ ‘คน’ ทำให้ชาวบ้านเลี้ยงหมูไม่ได้อีกต่อไป ด้วยกลิ่นที่อาจรบกวนชุมชนเมืองที่ขยายเข้ามา และเนื่องจากโรงเรือนระบบปิด หรือที่เรียกว่า Evap มีต้นทุนค่อนข้างสูง คนเลี้ยงหมูส่วนใหญ่ไม่ได้มีต้นทุนมากพอที่จะรื้อของเดิมทิ้งแล้วสร้างโรงเรือนใหม่ คนเลี้ยงหมูในนครปฐมจึงน้อยลงเรื่อยๆ อดีตเมืองหมูที่เคยรุ่งเรือง กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยโรงหมูถูกทิ้งร้าง ส่วนหมูก็ถูกย้ายไปเลี้ยงทางแถบจังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี ที่มีอาณาเขตติดต่อกับนครปฐมแทน จะเหลือก็แค่โรงเชือดไม่กี่แห่งที่ยังดำเนินกิจการอยู่จนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์ที่คุณแม่พี่ยุทธล้มป่วย ทำให้ครอบครัวของทั้งคู่เริ่มเปลี่ยนเเนวคิดการใช้ชีวิตอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน “เราเริ่มคิดกันว่า ถ้าจะกลับมาอยู่บ้านจริงๆ ก็น่าจะหาอาชีพที่ทำแล้วไม่มีพิษภัยต่อตัวเองและคนอื่นด้วย” พี่กิ๊บเล่า

โรงเรือนเลี้ยงหมูเก่าที่ทิ้งร้างมานานกว่า 10 ปี ภายในพื้นที่บ้านพี่ยุทธ จึงเปลี่ยนร่างกลายมาเป็นแปลงผักขนาด 6 โรง ซึ่งแปลงผักยกพื้น ที่เห็นทั้งหมดนี้ไม่ได้สร้างใหม่อะไรเลย แต่มันคือคอกหมูเก่า หน้ากว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร เหล็กที่กั้นคอกหมูสมัยก่อนถูกดัดแปลงเป็นขาตั้งแปลงผักที่พี่กิ๊บบอกว่าทั้งหนามาก และแข็งแรงมากจนไม่ต้องรื้อทิ้งเลย
“มีคนเลี้ยงหมูในนครปฐมมาดูงานเหมือนกันว่าเขาจะปรับเปลี่ยนโรงเลี้ยงเก่ามาเป็นอะไรที่เกิดประโยชน์ได้บ้าง อันนี้ป๊าพี่ก็เป็นคนช่วยออกแบบด้วย ชอบตรงที่มันยังมีกลิ่นอายความเป็นนครปฐมบ้านเราอยู่ (ยิ้ม)”

2
ไม่ใช่หมูๆ!
พอเป็นเกษตรอินทรีย์ ทั้งพี่กิ๊บและพี่ยุทธต้องทำเองแทบจะทุกอย่าง ตั้งแต่ทำปุ๋ยหมักเอง ปุ๋ยมูลไส้เดือนก็ทำเอง ทำชีวพันธุ์ เพาะเมล็ดพันธุ์ ทำแม้กระทั่งเพาะเชื้อราเอง เรียกว่าทำเองทุกสิ่งอัน
“เอาจริงๆ เราไม่มีความรู้เลย พ่อพี่ยุทธทำปศุสัตว์ ไม่เคยปลูกผักมาก่อน ส่วนพ่อแม่พี่ก็ทำพืชสวน ปลูกไม้ยืนต้น เราเป็นครอบครัวเกษตรกรก็จริง แต่มันคนละโลกกับปลูกผักแบบนี้ ตอนที่เรากลับบ้านมาก็เรียนรู้อยู่ประมาณ 1 ปี เริ่มจากผักสลัด เพราะรู้สึกว่ากินง่าย เข้าถึงง่ายกว่าผักสวนครัวซึ่งคนอาจจะไม่ได้กินเป็นอาหารหลัก แต่ผักสลัดกินสดๆ ได้ กินเป็นผักแนมกับอาหารอะไรได้เยอะ”
“แต่ผักมันจะไม่สวยหรอกนะ ยิ่งอากาศร้อน แมลงจะชอบลง เพลี๊ยไฟมากิน สังเกตว่าใบผักมันจะเป็นแผลอย่างที่เห็น เเค่เราต้องสื่อสารให้คนกินเข้าใจ ว่าพอเป็นผักอินทรีย์จริงๆ ความสวยงามอาจไม่เท่าผักที่ใช้สารเคมีทั่วไป หรือผักที่ปลูกในระบบปิด ซึ่งโรงเรือนแบบปิดสำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้มีทุนมากมาย โรงหนึ่งต้องลงทุนหลายแสนบาท แต่ข้อดีคือพอเป็นแปลงยกพื้นแล้ว ปัญหาเรื่องวัชพืชไม่ค่อยมี จะมีก็แค่เรื่องแมลงตามสภาพภูมิอากาศ แต่จริงๆ อากาศที่นครปฐมก็ไม่ได้แย่นะ ผักบางอย่างชอบแดด ชอบแสง แต่ไม่ชอบอากาศร้อน มันจะย้อนแย้งกันนิดหน่อยแบบนี้แหละ”


เรื่องผลผลิตเป็นปัญหาหลักของคนทำเกษตรอินทรีย์ พี่กิ๊บเล่าว่า โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนที่อากาศร้อนจัดๆ พวกเขาแทบคุมผลผลิตไม่ได้เลย “เมื่อก่อนบ้านเราจะร้อนจัดช่วงปลายมีนาคม จนถึงมิถุนายน แต่ตอนนี้เดือนที่พีคสุดเราบอกไม่ได้เลย เพราะสภาพอากาศไม่แน่นอน ถ้าคนที่มาสายนี้จะรู้ว่าการปลูกแบบอินทรีย์มันยากนะ ร้านอาหารบางร้านเคยถามเราว่าจะมีผักส่งให้เขาทุกเดือนมั้ย เราก็ตอบว่าบางเดือนอาจจะมี 10 บางเดือนอาจมี 5 นะ รับได้มั้ย เขาบอกว่าเขาต้องการคำตอบแบบนี้แหละ เพราะเขาเข้าใจคนที่ทำอินทรีย์จริงๆ ว่าบางช่วงผลผลิตมาก บางช่วงน้อย”
“พอเราเป็นคนรุ่นใหม่ ก็จะเริ่มคิดแล้วว่าจะแก้ปัญหายังไง ถ้าผักเราไม่ได้ปริมาณจริงๆ แต่ค่าแรงคนงานเราเท่าเดิม ต้นทุนเท่าเดิม แถมเมล็ดพันธ์ุยังลงไปแล้วเสียหาย ปลูกไม่ได้ ปุ๋ยบางอย่างเราต้องซื้อเพิ่มเช่นมูลวัว สลับกับมูลหมูที่เรามีอยู่แล้ว เพื่อใช้ปรับสภาพดิน เราก็เลยเลือกทำเกษตรแบบผสมผสาน ช่วงที่ผักปลูกไม่ได้ ก็ยังมีไข่ไก่ ไข่เป็ด เราอาจจะไม่ได้กำไร แต่เราไม่ได้ติดลบ เรายังอยู่ได้”

3
หมูไป ไก่มา
เกษตรผสมผสานที่พี่กิ๊บบอก เริ่มต้นมาจากที่เธอพบว่าเศษผักจากการตัดแต่งภายในฟาร์มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เธอจึงคิดว่าจะเอามาทำอะไรได้บ้าง บางคนอาจใช้เลี้ยงปลา แต่ฟาร์มนี้ไม่มีบ่อและขุดบ่อไม่ได้ด้วยปัจจัยของพื้นที่ จึงเอาเศษผักมาใช้เลี้ยงไก่แทน แล้วฟาร์มไก่ไข่ก็เกิดขึ้นจากตรงนี้
“ไก่ของฟาร์มเราเลี้ยงตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบอายุ 3-5 วัน มาแรกๆ เราจะให้เขาเข้าไปอยู่โรงอนุบาลก่อน เพื่อให้ปรับสภาพตัวเองกับพื้นที่และสภาพอากาศ บางทีถ้าเอาไก่สาวมาเลี้ยงเลย เขาจะไม่คุ้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการที่ไก่ไม่ไข่เลย หรือได้ไข่ที่เล็กมากๆ เราต้องมาดูว่าไก่ปรับสภาพตัวเองได้มั้ย กินอาหารของเราได้หรือเปล่า เราผสมอาหารขึ้นมาเองโดยใช้ข้าวโพด ปลายข้าว กากถั่ว ถั่ว และเศษผักจากการตัดแต่งในสวนของเราเอง ซึ่งเหล่านี้เราอิงจากวัตถุดิบอาหารหมูที่เราก็ผสมเอง โดยมีสัตว์แพทย์เข้ามาช่วยดูแลเรื่องอาหารเองด้วย”
ฟาร์มแห่งนี้เลี้ยงแต่ไก่ไข่ ไม่ได้มีเนื้อไก่ เป็นแม่ไก่พันธุ์โร้ดไอร์แลนด์ (Rhode Island) ที่เรียกว่าไฮบริด (Hybrid) คือได้รับการปรับสายพันธุ์ให้เหมาะกับสภาพบ้านเรามาแล้ว และเหมาะกับการเลี้ยงในระบบปล่อย หรือฟรีเลนจ์ (Free-range) ซึ่งพี่กิ๊บก็ได้เปิดโลกให้เราเข้าใจว่าไก่ฟรีเลนจ์จะต่างกับไก่ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เขียนว่าเคจฟรี (Cage Free) หรือไก่เลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด (EVAP) เพียงแค่ไก่ไม่ได้อยู่ในคอก แต่ไก่ก็ยังอยู่กันอย่างหนาแน่น ไม่ได้เดินๆ วิ่งๆ อย่างอิสระอยู่ดี ฟังแค่นี้ก็มึนตึบแล้ว ยังมีความซับซ้อนอีกแบบหนึ่งที่เรียกว่าเป็นไก่ฟรีเลนจ์ก็จริง แต่ยังใช้อุตสาหกรรมอาหารถุงในการเลี้ยง ที่อาจมีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะและสารเร่งการเจริญเติบโตอยู่ดี

เป็นครั้งแรกที่เราได้เห็นไก่จำนวน 270 ตัวที่นี่วิ่งเล่น วิ่งจริงๆ วิ่งดุ่ยๆ แบบน่าเอ็นดูมาก บางตัวก็เดินคุ้ยเขี่ยชิลล์ๆ แถมยังได้กินอาหารที่ไม่มียาปฏิชีวนะและฮอร์โมนใดๆ เพราะพี่กิ๊บผสมขึ้นมาเอง ทำวัคซีนไก่เอง ต้องผ่านการตรวจทั้งน้ำ อาหาร และไข่ กว่าจะได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์แบบนี้ ส่วนโรงเรือนก็ต้องผ่านเกณฑ์เหมือนกัน โรงเรือนที่ดีคือไก่ 1 ตัว ต้องมีพื้นที่ปล่อยอิสระ 4 ตารางเมตร ให้วิ่งเล่นได้เต็มที่ ส่วนที่นอนของแม่ไก่ก็จะต้องมีพื้นที่ 2 ตัว ต่อ 1 ตารางเมตร มีการขึงผ้าใบสีมืดๆ หน่อย ให้แม่ไก่รู้สึกสงบ รีเเลกซ์ เป็นส่วนตัว มีสมาธิในการเบ่งไข่ และได้ไข่ไก่ที่มีคุณภาพ ฟาร์มไก่ของพี่กิ๊บจะอนุญาตให้แค่คนดูแลหรือเก็บไข่เท่านั้นที่จะเข้าไปได้ เพราะบางครั้งถ้าแม่ไก่สาวไม่คุ้นชินกับคนแปลกหน้าก็จะตื่นเต้น ไม่ก็เครียดจนเบ่งไข่ไม่ออกไปหลายวันเลยทีเดียว
“ไก่ที่เลี้ยงแบบปล่อย ปริมาณหรือไซส์ของไข่จะไม่เท่ากับไก่ที่เลี้ยงแบบอุตสาหกรรม บางตัวกินน้อย เน้นวิ่งเล่นเยอะ ไข่ก็จะออกมาลูกเล็กหน่อย บางวันกินเยอะ ไข่ก็จะฟองใหญ่ ถ้าเลี้ยงแบบอิสระ ปริมาณไข่ออกมาที่ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าสมบูรณ์แล้ว ในอุตสาหกรรมใหญ่ เขามีการวิจัยเลยว่าแสงต้องเท่าไร น้ำเท่าไร อาหารกี่กรัมต่อตัว ไข่ไก่ถึงจะออกมาอย่างที่ต้องการ ของเราไม่ได้ควบคุมขนาดนั้น จะมีช่วงที่เขาพักท้องหรือช่วงผลัดขน อาจจะดร็อปเรื่องไข่ลงไปบ้าง ก็ไม่เป็นไร เราช่วยเพิ่มวิตามิน เพิ่มผัก ไฟเบอร์เข้าไปช่วย”
ไก่ของพี่กิ๊บเป็นไก่มังสวิรัติ เพราะใช้โปรตีนจากพืชอย่างข้าวโพดและถั่วเป็นอาหาร ไม่ได้ใช้โปรตีนจากสัตว์อย่างพวกอาหารทะเล เปลือกกุ้ง เปลือกหอยป่นเป็นอาหารเหมือนทั่วไป ความแตกต่างของไข่ไก่ที่เราได้ชิมมาแล้วที่ร้านพาสต้า Pho Kitchen คือไข่จะมีสีเหลืองอ่อน และไม่มีกลิ่นคาวเลยแม้ว่าจะกินแบบดิบๆ แต่จะฟองเล็กกว่าไข่ทั่วไปเท่านั้นเอง ส่วนไข่เป็ดที่ใช้ทำพาสต้าเส้นสดก็เป็นไข่เป็ดจากฟาร์มหมูขุนของครอบครัวพี่ๆ ทั้งสอง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากฟาร์มแห่งนี้ ที่นั่นมีเป็ดที่เลี้ยงแบบปล่อยอิสระเหมือนกัน กินอาหารแบบเดียวกันกับแม่ไก่ แต่จะปล่อยให้หากุ้ง หาลูกปลาน้ำจืดในบ่อกินเองได้ตามธรรมชาติจากบ่อปลานิลและบ่อปลาสวายไข่เป็ดจะมีกลิ่นคาวน้อยกว่าไข่ทั่วไป เพราะไม่ได้กินอาหารทะเล ช่างเป็นเป็ดไก่ที่ชิลล์ซะเหลือเกิน เห้อ… ไก่จ๋าาา

4
อินทรีย์
ถึงอย่างนั้น พี่กิ๊บและพี่ยุทธก็บอกกับเราว่า ไข่เป็ดไข่ไก่ของพวกเขาเป็นอินทรีย์ก็จริง แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าออร์แกนิกร้อยเปอร์เซ็นต์ เหตุผลเพราะไม่ได้ใช้ข้าวโพดและปลายข้าวจากแปลงที่ปลูกแบบออร์แกนิกเท่านั้น เนื่องจากในนครปฐมและระแวกจังหวัดใกล้เคียงยังมีคนปลูกจำนวนน้อย ต้องอาศัยขนส่งมาจากทางภาคอีสาน นั่นอาจทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์มีราคาสูงขึ้นจากค่าขนส่ง และไหนจะคาร์บอร์นฟุตปริ้นต์ (Carbon Footprint) ที่เกิดขึ้นอีก
“ถ้าถามว่าอยากได้วัตถุดิบออร์แกนิคร้อยเปอร์เซ็นต์มั้ย เราอยากได้ สมมติว่าข้าวโพดทุกวันนี้เราซื้อโลละ 10 บาท แต่ออร์แกนิคมีผลผลิตน้อย มีค่าขนส่ง ออกมาโลละ 15-20 บาท ทำให้ไข่ไก่เราจากที่ขายฟองละ 5 บาท ต้องขายฟองละ 10 บาท ถามว่าเราจะได้ผลิตอาหารที่ปลอดภัยให้คนในประเทศนี้ได้กินสักกี่คน แล้วคนรายได้น้อยที่เขามีกำลังซื้อไม่มาก เขาจะมีโอกาสได้กินมั้ย มีเหมือนกันที่เขาขายวัตถุดิบทีละ 20 ตัน แต่เราจะเอามาเก็บยังไง เสี่ยงมอดกิน หนูแทะ ไก่ก็เสี่ยงที่จะกินอาหารมีเชื้อราอีก เราเลยกลับมาดูว่าบ้านเรามีอะไรที่พอทดแทนได้บ้าง ดูจากอาหารหมูที่เลี้ยงด้วยพืชผักเป็นทุนเดิม ก็เรียกได้ว่าสะอาดและปลอดภัยในระดับหนึ่ง แต่ถ้าวันหนึ่งมีคนทำอาหารสัตว์ออร์แกนิคมากขึ้น ในราคาที่เกษตรกรรายเล็กอย่างเรารับได้ โดยที่ไม่เป็นภาระตัวเอง ไม่เป็นภาระผู้บริโภค เราก็พร้อมจะเปลี่ยนทันที”

“ปัญหาอีกอย่างของคนเลี้ยงไก่แล้วไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานอินทรีย์ หลักๆ เพราะชาวบ้านไม่มีพื้นที่มากพอที่จะเลี้ยงได้ตามมาตรฐานเป๊ะ บางทีเขาเลี้ยงหลังบ้าน หรือเลี้ยงในพื้นที่บ้านตัวเอง ถ้าตามความคิดเรานะ เขาอาจจะเลี้ยงในโรงเรือนเก่าของบรรพบุรุษหรืออะไรก็ตาม แต่อาหารเลี้ยงไก่เขาเป็นอินทรีย์ เราก็คิดว่านี่ก็คืออินทรีย์ในระดับหนึ่งแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าเขามีอะไร ทำอะไร มีข้อจำกัดแค่ไหน แล้วเราจะมองเขายังไง เราเป็นเกษตรกรที่ทำอินทรีย์ก็จริง เเต่เราจะไม่ไปตัดสินใครว่าเขาทำแบบนี้ไม่เป็นอินทรีย์ แบบนั้นไม่อินทรีย์ เราไม่เคยบอกใครว่าทำวิถีฉันดีที่สุด ใครไม่ทำแบบเดียวกันแปลว่าเขาไม่ดี เพราะทุกคนมี ‘Way’ ของคำว่าอินทรีย์ไม่เหมือนกัน มีรายละเอียด มีปัจจัยเงื่อนไขไม่เหมือนกัน”
“เราโชคดีที่เราทำได้ แต่ที่สุดแล้วเรามองว่าใครทำได้ระดับไหนก็ทำไปตามกำลังตัวเอง เพียงแค่ว่าอาจต้องสื่อให้ลูกค้าของเขาเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาเท่านั้นเอง เราจะบอกคนกินเสมอว่าไข่อินทรีย์ของเราเป็นแบบไหน ถ้าเขาโอเคก็ซื้อ ถ้าเขาไม่โอเค อยากได้อินทรีย์ใน Way อื่น เขาก็ไม่ซื้อ มันก็แฟร์ๆ แบบนี้”

ไข่ไก่ของที่นี่ ส่วนหนึ่งจะมีลูกค้ามารับหน้าฟาร์ม มีทั้งลูกค้าที่ซื้อไปกินเอง ไปจนถึงลูกค้าที่เป็นร้านอาหารในนครปฐม พื้นที่ใกล้เคียง อีกส่วนหนึ่งวางขายใน Tops Supermarket ภายใต้แบรนด์ Organic & Co. โดยที่สังเกตข้างกล่องหรือสแกน QR Code ดูได้เลยว่าไข่กล่องนี้มาจากฟาร์ม A Little Farmer ของพี่กิ๊บพี่ยุทธ ด้วยปัจจัยด้านปริมาณที่ควบคุมได้ยากของไข่ไก่อินทรีย์ที่อาจไม่มากพอต่อการส่งขายในซูเปอร์ฯ แบรนด์ Organic & Co. จึงเป็นเหมือนตัวกลางรวมกลุ่มเกษตรกรที่ทำผลิตภัณฑ์ในวิถีเดียวกันจากฟาร์มต่างๆ ให้เกษตรกรตัวเล็กๆ อยู่รอด คนเมืองมีโอกาสได้กินของดีๆ มีเงินแค่ 70 บาทก็มารับผักอินทรีย์ครึ่งโลหน้าฟาร์มไปกินสบายใจเฉิบได้แล้ว

5
บ้านที่ปลูก
ทุกวันนี้ครอบครัวพี่กิ๊บก็ยังคงเลี้ยงหมูแม่พันธุ์ในระบบกงสี ขายหมูเป็นตัวให้กับเขียงหมูในจังหวัดนครปฐม ในอนาคตพี่กิ๊บมีแผนที่จะเรียนชำแหละหมูและแปรรูปหมูเอง เพื่อทำให้ฟาร์มของพวกเขาครบวงจรในการผลิตอาหารที่สะอาด ปลอดภัย มีที่มาที่ไปและตรวจสอบได้ที่สุดเท่าที่จะเป็นได้
“เราอาจโชคดีที่มีทรัพยากรของคนรุ่นพ่อแม่อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าจะต่อยอดยังไง ทั้งที่ดิน ทั้งอาชีพ หรือแม้แต่คำพูดที่เขาสอน สักวันหนึ่งทรัพยากรเหล่านั้นมันก็หมดสักวัน หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้มันอยู่รอด”
“คำหนึ่งที่พ่อแม่สอนตลอดคือ ไม่ว่าทำอะไรต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่คดโกงคนอื่น แล้วเราจะอยู่ได้นาน การทำเกษตรอินทรีย์มันดีต่อตัวเอง ดีต่อคนอื่น เรามีรายได้ เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ได้ เลี้ยงคนงานได้ พวกเรามีสุขภาพดี ไม่ป่วยเป็นโรค ลูกน้องเราไม่ต้องมานั่งฉีดพ่นยาฆ่าหญ้า เคยมีคนงานมาสมัครงานในฟาร์มเรา เขาอายุ 40 กว่า ทำไร่อ้อยอยู่อีสานมาทั้งชีวิต เขาพูดกับเราว่า ‘ร่างกายผมไม่ไหวแล้ว’ หันกลับมาดูที่ฟาร์มเรา เออว่ะ คนงานเราที่นี่ไม่มีใครได้รับสารเคมีเลย ไข่เป็ดไข่ไก่ ผักจากแปลง เราก็กินเอง ให้คนที่บ้านเขากิน ไม่ได้ปล่อยสารพิษออกไปลงดิน ลงน้ำ ไม่เป็นภาระต่อโลก”


“ฟังดูเหมือนโลกสวยนะ แต่เชื่อมั้ย เคยมีคนเดินมาบอกเราว่า ขอบคุณมากนะที่ทำผักอินทรีย์ พี่สาวเขาป่วยเป็นมะเร็ง เขากินผักเราแล้วเขาดีขึ้น บางคนลูกเขาเป็นภูมิแพ้ กินไข่ฟาร์มเรา แล้วลูกเขาไม่ต้องกินยาอีกเลย ไม่เคยรู้เลยว่าสิ่งที่เราทำมันจะเกิดผลขนาดนี้ แต่มันเกิดขึ้นจริง ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเราทำลายความเชื่อมั่นตรงนี้ไม่ได้ เหมือนคำที่ป๊าพูดเลยว่า พอทำอะไรด้วยความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์ก็จะกลับมาหาเราเอง”
โรงผักทั้งหมดก็เหมือนกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว พี่กิ๊บกับพี่ยุทธกลับบ้านมาโดยการเริ่มจากการปลูก 2-3 แปลงเท่านั้น จากแปลงเล็กๆ เป็นเวลากว่า 2 ปี ค่อยๆ เติบโตจนทรัพยากรอย่างที่เห็นทั้งหมดในฟาร์มนี้
“เราไม่เคยโลกสวยเลย อาชีพเกษตรกรมันเหนื่อยมากจริงๆ ช่วงแรกที่กลับมา ฟ้าสว่างเมื่อไร ต้องตื่นมาลงแปลงแล้ว เมื่อก่อนไม่มีคนงาน มีแค่เราสองคนกับน้องสาว ผสมดินเองด้วยมือเพราะยังไม่มีเครื่อง เลิกงานก็ต่อเมื่อฟ้ามืดมองอะไรไม่เห็นแล้ว เป็นแบบนี้ทุกวันตลอด 1 ปี มือนี่แพ้ยางผักแสบมากถึงขั้นนอนไม่ได้ โดนดินไม่ได้ไปเลยช่วงหนึ่ง ค่อยๆ เก็บเงินมาเรื่อยๆ มีเงินจ้างคนงาน จนถึงทุกวันนี้ เหนื่อย เหนื่อยมาก แต่มันคุ้ม (ยิ้ม)”
“เรากล้าพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นเจ้าของฟาร์มที่ทำเองทุกขั้นตอน ตอบได้หมด เวลาสร้างอะไรขึ้นมาแล้วลงแรงกับมัน เราจะเห็นคุณค่าของฟาร์มเรา ไข่เรา ผักเรา แล้วมันก็ดึงคนที่เห็นคุณค่าของเรามาเจอกันด้วย”

เราบอกลาพี่ๆ ทั้งสอง ในบ่ายที่ท้องฟ้าไม่มีเมฆ “ไว้มาแถวนี้อีกเมื่อไร ก็แวะมาหาพี่ได้นะ” เจ้าของฟาร์มบอก ขณะเราถอยรถออกจากซอยด้วย ท้องอิ่มแปล้จากข้าวหมูกรอบร้านเด็ดที่พี่กิ๊บใจดีชี้ทางสว่างให้คนต่างถิ่นที่ไม่รู้อะไรเลยอย่างเรา
ระหว่างทางกลับบ้าน เราได้แต่ทบทวนคำพูดของพี่กิ๊บ โลกอาจมีมากกว่าสีขาว เทา หรือดำ แต่ยังมีเฉดสีอีกมากมายที่อาจต้องเข้าไปยืนมองใกล้ๆ ด้วยตัวเอง ถึงจะเห็นสีที่ชัดเจน
หากใครถามเราว่าฟาร์มนี้คืออินทรีย์หรือไม่ เราก็คงจะบอกว่าใช่ มันเป็นอินทรีย์ แต่เป็นอินทรีย์ใน ‘วิถี’ ของพวกเขาเอง


A Little Farmer Organic Farm
เพชรเกษม 5 ตำบลพระประโทน อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม 73000
โทร. 089 – 432 – 9181
Facebook : A Little Farmer Organic Farm

และจะไปออกร้านที่ ตลาดบ้านรังนก อำเภอบางเลน จ.นครปฐม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่ 9.00-16.00 น.
ร้าน DUBUA CAFE (ดูบัว คาเฟ่) อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ตลาดจริงใจ เซ็นทรัลศาลายา และเซ็นทรัลเวสต์เกต ชั้น 1 บริเวณหน้า Top Supermarket ทั้ง 2 สาขา ทุกวัน
ส่วนคนกรุงเทพฯ ไปเจอพี่กิ๊บได้ที่ ตลาด อ.ต.ก. (จตุจักร) โซนเกษตรอินทรีย์ ทุกวัน ตั้งแต่ 07.00น – 17.00น.
งาน Farmer Market @K-Village สุขุมวิท 26 ทุกสัปดาห์ที่ 2 และ 4 ของเดือน นะจ๊ะ นะจ๊ะ!
ด้วยความที่พี่ๆ เขายังเป็นเกษตรกรที่ทำเองแทบจะทุกขึ้นตอน และด้วยการควบคุมความสะอาดที่เกรงว่าคนจะเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์ได้ A Little Farmer Organic Farm เลยยังไม่เปิดที่ให้คนทั่วไปเข้ามา แต่ถ้าใครสนใจเรียนรู้วิถีอินทรีย์จริงๆ พี่กิ๊บก็ยินดีให้ Inbox เข้ามามาเยี่ยมได้ และยังมีเวิร์คช็อปแบบกลุ่มให้คนรุ่นพ่อแม่ลุงป้าเตรียมความพร้อมเผื่อว่าคนรุ่นลูกจะกลับมาทำเกษตร เพื่อพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองในอนาคตด้วยจ้า