‘โหยหา’ เป็นคำที่ผุดขึ้นมาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ไม่ว่าทางกายหรือทางใจ เรามักโหยหาในสิ่งที่เคยทำให้เรามีความสุข รวมถึงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เรามีความสุข

บางคนโหยหาอดีตอันหอมหวาน บางคนโหยหาอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ส่วน ธีระ ตั่นอนุพันธ์ กำลังโหยหาปัจจุบันกับพื้นที่ที่มีอากาศให้ตัวเองได้หายใจและมีความสงบพอที่จะได้คิด ได้ลองทำอะไรใหม่
โกระ ‘ธีระ ตั่นอนุพันธ์’ คำว่า ‘โก’ ภาษาจีนไหหลำใช้เรียกพี่ชาย ส่วนในวงการโฆษณาทุกคนเรียก ‘พี่ตู่’ ช่างภาพโฆษณาแถวหน้าของเมืองไทย “ผมเริ่มอาชีพช่างภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 เริ่มจากช่างภาพนิตยาสารแล้วขยับมาถ่ายภาพโฆษณาเต็มตัว” หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อ แต่เชื่อว่าต้องเคยเห็นผลงานของโกระมาบ้างแล้ว เพราะนี่คือช่างภาพที่ถ่ายงานให้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ในประเทศมา 30 กว่าปี ผลงานบนบิลบอร์ดหลายๆ ชิ้นคือฝีมือช่างภาพรุ่นใหญ่คนนี้

“พออายุมากขึ้นความคิดก็เปลี่ยน อยากหาอะไรที่ชอบและมั่นคง ได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ” โกระเล่าถึงความอึดอัดกับการอยู่ในกรุงเทพฯ อย่างยาวนาน และเริ่มรู้สึกถึงการโหยหาที่ทางให้ตัวเองได้หายใจ จนนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อของโกระทำให้เห็นมาหลายสิบปี นั่นก็คืออาชีพ ‘เกษตรกร’
การเดินทางสืบค้นเรื่องราวของโกระ ในเบรคฟาสต์คราวนี้ ได้ OPPO Find N2 Flip สมาร์ทโฟนพับได้ที่ออกแบบให้เข้ากับทุกสไตล์การใช้ชีวิต #พับที่ดีกว่า มาช่วยเติมเต็มความรู้ว่ากว่าจะมาเป็นโกโก้ร้อนๆ สักแก้ว ช็อกโกแลตบาร์ดีๆ สักแท่ง ต้องมีวิธีทำยังไงถึงจะได้เป็นคุณภาพในแบบ ‘บ้านไร่โกโก้ระ’ มาเรียนรู้ที่มาที่ไปของช็อกโกแลตเมกเกอร์วัย 59 ปี กับการโหยหาสู่ความกล้าที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่


กล้าที่จะเริ่ม
หลายคนมักจะกลัวในสิ่งที่ไม่รู้และไกลตัว กลัวที่ต้องเริ่มต้นสิ่งใหม่ สำหรับโกระแล้วกลับไม่คิดอย่างนั้น “ผมคิดว่าเป็นสิ่งท้าทายและเป็นกำไรชีวิตที่เราควรเปิดโอกาสและเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองอยู่เสมอ”
“จริงๆ ทีแรกไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นเกษตรกร ด้วยความที่เป็นเด็กต่างจังหวัดมาโตในเมืองหลวงตั้งแต่เด็ก และเคยชินกับอาชีพช่างภาพกว่า 30 ปี ที่หาเงินได้ไม่ยาก ได้ใช้ชีวิตหรูหรา” โกระมองว่าเกษตรกรมันเหนื่อยและลำบากมาก จึงปักหมุดไว้ว่าชีวิตนี้ไม่เอาแน่อาชีพเกษตรกร “นึกถึงวัยเด็กที่ทุกๆ ปิดเทอมเราจะกลับต่างจังหวัดไปช่วยพ่อแม่ทำเกษตร เคยคิดว่าโตขึ้นคงไม่มาทำอาชีพนี้แน่นอน แต่พออายุเริ่มมากขึ้นความคิดก็เปลี่ยน อยากหาอะไรที่ชอบและมั่นคง ได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติตอนบั้นปลายอย่างสงบและสร้างสรรค์ ประกอบกับเบื่อสังคมเมืองหลวง รู้สึกอึดอัดอยากหาที่หายใจ ตระหนักได้ว่าคงไม่ใช่ที่ของเรา และอยากกลับมาพัฒนาต่อยอดในสิ่งที่พ่อเคยทำไว้ให้ดียิ่งขึ้น”

พลิกแผ่นดินพ่อ
พ่อของโกระเป็นเกษตกรโกโก้อยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เคยเป็นเกษตกรยอดเยี่ยมประจำจังหวัดมา 2 ปี “เรามีครูดี” โกระพูดด้วยแววตามีพลัง “เราไม่ต้องคิดเยอะ กลับมาสู่เบสิกดีที่สุดแล้ว”
บ้านที่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ เคยเป็นที่อาศัย กินอยู่ มันคับแคบเกินความรู้สึกจะทนไหว โกระชักชวนภรรยาออกไปหาที่ดินที่ต่างจังหวัดเพื่อทำเกษตร “ตอนนั้นคิดอยากปลูกผักสลัดออแกนิค เพราะศึกษามาแล้ว คำนวณรายได้ก็พอๆ กับอาชีพช่างภาพของเราเลย” เมื่อคิดไอเดียได้แล้วก็ขับรถตระเวณไปกับภรรยา หวังหาที่สวยๆ ไปดูทั้ง จังหวัดสุโขทัย น่าน เชียงใหม่
“ผมชอบที่ที่น่านมาก เลยกลับมาปรึกษาพ่อว่าไปดูที่ดินที่น่านมาจะทำผักสลัดออแกนิคขาย” พ่อของโกระเห็นด้วยกับไอเดียนี้ แต่ก่อนจะซื้อที่ดินที่น่าน พ่อของโกระถามว่าที่ดินที่เคยยกให้ในอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ไม่ลองไปดูก่อนเหรอ “พ่อผมเคยพาผมมาดูที่ดินผืนนี้เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ผมมาแต่ก็ไม่สนใจอะไร ตอนนั้นยืนอยู่กลางถนนร้อนๆ มองมามีแต่ป่า”
โกระตัดสินใจกลับมาดูที่ผืนที่พ่อเคยให้อีกครั้ง เพื่อตัดสินใจให้ชัดว่าระหว่างที่น่านกับที่เพชรบุรีจะเลือกที่ไหนกันแน่ พอมาดูมีแต่ต้นยางเก่าๆ ที่พ่อปลูกทิ้งไว้ ระหว่างต้นยางมีต้นกระถินสูงปกคลุมแทบมองไม่เห็นอะไร บรรยากาศคลุมเครือ โกระหันไปถามภรรยาว่าเอายังไงดี? ภรรยาตอบกลับด้วยท่าทีมีพลัง “ลุยพี่ หนูเอา” คำนี้คำเดียวทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป


ปลูกโกโก้ต้นแรก
“ช่วงแรก ทุกคนในครอบครัวผมยังไม่มั่นใจว่าผมจะทำได้” ไม่แปลกที่ทุกคนในครอบครัวสงสัยในตัวโกระ เมื่อมองย้อนกลับไปในอาชีพช่างภาพนั้นไม่ได้หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินเหมือนอาชีพเกษตกร รวมถึงที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตสะดวกสบาย ใช้ของแบรนด์เนม ยังไงก็ดูห่างไกลกับการใส่เสื้อผ้าเพื่อห่มกาย ถือจอบ ถือเสียมออกไปทำสวน
โกระเริ่มเอาพันธุ์ไม้โกโก้มาจากพ่อที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มปลูกจากต้นแรก วางต้นสอง เรียงรายกันเป็นแถว ผ่านไป 2 ปี ต้นโกโก้เริ่มโต ในขณะที่โกระยังใช้เวลาวันจันทร์ – ศุกร์ ทำงานช่างภาพในกรุงเทพฯ และวันเสาร์ อาทิตย์ก็มาเป็นเกษตกร “2 ปีผ่านไป ยังไม่มีใครเชื่อนะว่าผมทำได้ แม้แต่พ่อผมยังไม่เชื่อเลย” โกระเล่าด้วยหน้าตายิ้มแย้ม “วันนึงเพื่อนพ่อผมแวะมาที่สวนแล้วถามว่า ‘ธีระ คิดยังไงมาทำสวน’ ผมตอบแบบไม่คิดเลยว่าเหมือนบวชเป็นพระ คนที่ตั้งใจบวชเป็นพระ คือคนต้องการอยู่ที่สงบ”

“ยอมรับเลยนะในตอนแรก ผมไม่ได้ตั้งใจว่าจะทำช็อกโกแลตหรอก แค่ตั้งใจว่าปลูกไว้แล้วค่อยเรียนรู้ วันนึงจะได้ไปต่อยอดสิ่งที่พ่อทำไว้ เพราะตอนนี้พ่อก็อายุ 80 กว่าแล้ว” ช่วง 2 ปี โกโก้เริ่มออกผลก็เลยส่งเมล็ดโกโก้แห้งไปขายพ่อ ซึ่งพ่อโกระโอนเงินมาให้เต็มจำนวณ “ไม่ผ่าน ถ้าไม่ใช่ลูกจะไม่ซื้อไว้” คุณภาพของเมล็ดไม่ดีพอที่จะขายในตลาด โกระยอมรับว่าตอนนั้นอึ้งเหมือนกัน ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะปล่อยมือไปแล้ว “สำหรับผมมันเป็นแรงถีบปาก บอกให้ตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง”
“ผมเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ดู Youtube เยอะมาก จนค่อยๆ พัฒนาทีละขั้นตอน จนได้เมล็ดโกโก้ที่มีคุณภาพ หลังจากนั้นผมคิดว่าเมื่อเรามีเมล็ดที่ดีแล้ว ผมไม่ส่งขายให้พ่อแล้ว แต่ควรพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของเราเอง”

ลงมือทำช็อกโกแลต
โกระยอมรับว่าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องช็อกโกแลตแม้แต่นิดเดียว ความรู้สึกแรกที่มีต่อเจ้าแท่งมีน้ำตาลนี้คือมันต้องยากแน่นอน “ผมเปิด Youtube ดูวิธีทำตั้งแต่ของฝรั่ง จนมาฝั่งญี่ปุ่น แล้วทดลองทำด้วยตัวเอง ทำแล้วทำอีก จนเข้าใจทุกกระบวนการ” โกระพูดติดตลกว่า “วันครูที่ผ่านมาผมน่าจะจุดธูปไหว้ Youtube เพราะผมเรียนรู้ทุกอย่างจากในนี้” นี่เป็นจุดเริ่มต้นของช็อกโกแลตเมกเกอร์วัย 59 ปี ที่เต็มไปด้วยพลังของการเรียนรู้


“ช่วงแรกผมเอาเมล็ดโกโก้มาคั่วทำโกโก้นิบส์ขาย คนซื้อก็มีทั้งติ ทั้งชม ผมก็เอากลับมาพัฒนาจนได้รสชาติที่ชอบ”
อยากได้รสชาติที่ดี ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการหมัก 95% ที่เหลือคือการปรุงแต่งรสชาติ “สิ่งที่กำหนดรสชาติ ความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นก็คือยีสต์ Saccharomyces” ซึ่งยีสต์ตัวนี้ทำหน้าที่บอกรสชาติเฉพาะถิ่นไม่ต่างอะไรกับการหมักไวน์ ซึ่งยีสต์ตัวนี้จะลอยอยู่บนอากาศแล้วจะเกาะอยู่บนใบไม้ เวลาหมักเมล็ดโกโก้จึงนิยมเอาใบตองที่อยู่ในบริเวณนั้นมาปูปิดทับไว้ทั้งหกด้านในลังหมักเพื่อให้ยีสต์ Saccharomyces ได้ทำหน้าที่ ซึ่งกระบวนการนี้เป็นวิธีดั้งเดิมที่ส่งต่อกันมา
ทุกกระบวนการโกระตั้งใจดูแลด้วยตัวเอง ตั้งแต่การปลูก การหมัก(Natural Process)จนถึงกระบวนการคั่ว(Roasted)และบดละเอียด (Grinder) เพื่อให้ได้รสชาติและคุณภาพแบบที่ต้องการ “การคั่วเป็นอีกวิธีการกำหนดรสชาติว่าจะให้เข้มขนาดไหน” ซึ่งของบ้านไร่โกโก้ระจะมีรสเข้มข้นตามความชอบของโกระ


Tempering เทคนิคที่ทำให้ช็อกโกแลตเซ็ทตัวและมีความเงางาม ซึ่งเทคนิคนี้บอกฝีมือของช็อกโกแลตเมกเกอร์ได้ดีเช่นกัน “การทำให้ช็อกโกแลตเซ็ทเงางามต้อง Tempering อย่างเข้าใจ สำคัญเลยคือห้องที่มีความเย็นต่ำกว่า 25 องศา เพราะเราต้องเพิ่มอุณหภูมิไปถึง 40 กว่าองศา ก่อนลดลงมาเหลือ 28 องศา หลังจากนั้นให้เพิ่มไป 31 องศา ก็จะได้ช็อกโกแลตเซ็ทตัวเงางามแบบที่เราต้องการ” โกระแชร์เทคนิดเล็กๆ อีกว่า การเพิ่มอุณหภูมิหลายๆ คนอาจจะใช้วิธีวางหม้อบนน้ำร้อน แต่โกระบอกว่าวิธีนี้ควบคุมยาก โกระเลยใช้ที่เป่าลมร้อนซึ่งควบคุมอุณหภูมิง่ายกว่ามาก
มีข้อสงสัยอีกเล็กน้อยว่าโกโก้กับช็อกโกแลตต่างกันยังไง “ในกระบวนการทั้งหมด ตั้งแต่ต้นจนถึงการบดเรียกว่าโกโก้ แต่ถ้าเมื่อไหร่เรานำมา Tempering แล้ว จะเรียกว่าช็อกโกแลตทันที” นี่เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในสากล

จากธรรมชาติสู่สุขภาพ
ปัจจุบันพบว่าปัญหาสุขภาพของเรามีแต่จะแย่ลงไปทุกวัน จากการรับสารเคมีโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ จึงจำเป็นต้องเลือกวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูสุขภาพของเราเอง “ออร์แกนิคเป็นอาหารที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง ปลอดสารพิษตกค้าง ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์และสิ่งแวดล้อม อาหารออร์แกนิคจะเต็มไปด้วยสารอาหารและวิตามินแร่ธาตุสำคัญต่างๆ ที่มีคุณค่าต่อร่างกายทำให้อายุขัยยืนยาวขึ้น”
โกระบอกว่าอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือ อาหารออร์แกนิคจะมีรสชาติความหอมหวานและได้รสสัมผัสจากธรรมชาติแท้ๆ “ไร่ของผมเล็งเห็นความสำคัญอันนี้ จึงต้องมีการดูแลอย่างพิถีพิถันทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการปลูก การหมัก(Natural Process)จนถึงกระบวนการคั่ว(Roasted)และบดละเอียด (Grinder)แม้กระทั่งนำ้ตาลที่ใช้ในการปรุงรสชาติยังต้อง ออร์แกนิค”
“ลองนึกถึงการกินช็อกโกแลตหรือโกโก้ ที่หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่า มันคือ super foods ของโลก มีสารอาหารและแร่ธาตุที่มีคุณประโยชน์มากมายต่อสุขภาพ แต่ถ้าวัตถุดิบที่นำมาผลิตยังมีสารพิษตกค้าง เท่ากับเรานำเอาพิษเข้าร่างกายทุกครั้งที่กิน” โกระตั้งคำถามว่าถ้าเราไม่มั่นใจ แล้วมันจะมีประโยชน์จริงไหม?
“แม้จะเป็นของทานเล่นเราก็ควรเลือกสิ่งที่ดีที่สุด เพื่อสุขภาพของตัวเราเอง แล้วเราจะไม่ทำมันตั้งแต่วันนี้เหรอ”

เรียนรู้จากธรรมชาติ
ก่อนจบบทสนทนา อยากรู้ว่าโกระเรียนรู้อะไรจากการก้าวเดินออกจากเมืองหลวง มุ่งสู่เกษตกรท่ามกลางป่าเขา “ส่วนตัว นึกภูมิใจเล็กๆ ที่ตัวเองได้กลับไปใช้ชีวิตกับธรรมชาติ อย่างน้อยก็ไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรมาก ใช้บั้นปลายชีวิต ให้เป็นส่วนหนึ่งเล็กๆ ที่กำลังช่วยโลก เรื่องอาหาร เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มออกซิเจน ปรับสมดุลธรรมชาติ ลดโลกร้อน ด้วยการปลูกต้นไม้ ควบคู่ไปกับการใช้วิทยาการใหม่ โดยไม่ได้ปฎิเสธการใช้เทคโนโลยีแต่ปฎิเสธการใช้สารเคมี”
ใครจะคิดจากเด็กช่างกลเกเรได้มาเป็นช่างภาพ แล้วตัดสินใจมาเป็นเกษตรกรกระทั่งมาเป็นช็อกโกแลตเมกเกอร์ แม้แต่โกระเองยังเอ่ยปากว่ายังไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้

เบรคฟาสต์ของเราดีใจมากที่ได้ OPPO Find N2 Flip สมาร์ทโฟนพับได้ ดีไซน์เข้าและฟังก์ชั่นเข้ากับทุกไลฟ์สไตล์ร่วมออกเดินทางสืบค้นเรื่องราวของโกระ ‘ธีระ ตั่นอนุพันธ์’ แห่งบ้านไร่โกโก้ระ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ยังมีผู้คนอีกมากมายที่ตั้งใจทำงานของตัวเองและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับผู้คน เราเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่กำลังซุ่มทำอะไรที่น่าสนใจ
บ้านไร่โกโก้ระ เป็นผลิตภัณฑ์โกโก้และช็อกโกแลตสไตล์โฮมเมดให้เลือกหลายแบบ ตั้งแต่โกโก้นิบส์ โกโก้แมส ช็อกโกแลตบาร์ ช็อกโกแลตอัลมอนด์/แมคคาเดเมีย ช็อกโกแลตแบบกล่องของขวัญ รวมถึงที่พักในไร่ก็พร้อมให้บริการ โกระบอกว่าช่วงหน้าหนาวจะสวยมาก อยากให้ทุกคนแวะมาพักผ่อน ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/Banraicocoara

ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Website : https://www.oppo.com/th/smartphones/series-find-n/find-n2-flip/
Facebook : https://www.facebook.com/oppothai/
#OPPOFindN2FlipTH #PioneerinFlipExperience #พับที่ดีกว่า