เคยนับกันเล่นๆ ไหมว่า ‘ดอกไม้’ อยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากเท่าไร เราอยู่ในประเทศที่มีดอกไม้หลอมรวมอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีชีวิต อยู่ในทุกโอกาส ตั้งแต่วันเกิด ยันวันที่จากโลกนี้ไปแล้ว ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ ดอกไม้อยู่ในวงจรชีวิตเรา ดอกไม้จะสวยงามและมีค่าที่สุดในวันที่มันถูกมอบและได้รับ แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นความสวยงามและคุณค่าของพวกมันหลังจากนั้น…

อาย – ไอริณ ปุรสาชิต เป็นนักออกแบบที่กำลังเรียนปริญาโทด้าน Contemporary Design ที่มหาวิทยาลัย Aalto University เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ระหว่างเรียนภาษาอยู่ที่อังกฤษก่อนไปฟินแลนด์ อายลงเรียนคลาสจัดดอกไม้ แต่สิ่งที่เธอโฟกัสไม่ใช่แค่ดอกไม้ หากเป็น ‘เศษดอกไม้’ ที่ถูกทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งดอกไม้เหลือทิ้งจากการจัด ยังไม่นับวัสดุอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดดอกไม้ทั้งหมด ซึ่งสุดท้ายแล้วมันก็จะลงเอยเป็นขยะไร้มูลค่า รอใครสักคนขนไปทิ้งที่ไหนสักแห่ง
อายมีความสนใจเรื่องการทำวัสดุเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เธอเก็บเรื่องนี้กลับไปเป็นหัวข้อทำโปรเจ็กต์ในสาขาวิชาที่เธอเลือกเรียน ชื่อว่า ‘CHEMARTS’ หรือ Chemical + Art วิชาที่ว่าด้วยเรื่องการพัฒนาวัสดุของนักออกแบบ โดยมีใช้ความรู้ของฝั่งวิทยาศาสตร์เป็นตัวสนับสนุน เธอตั้งใจว่า บินกลับบ้านมาคราวนี้ จะรีเสิร์ชข้อมูลโดยเริ่มปักหมุดจากปากคลองตลาด
ที่ปากคลองตลาด ตลาดค้าส่งดอกไม้ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ถิ่นของ เอิร์ธ – พริษฐ์ตา ธัญญ์สิรินทร์ ศิลปินนักจัดดอกไม้แห่ง Flowers in the Mist ผู้เติบโตมากับธุรกิจค้าส่งดอกไม้ของครอบครัวตั้งแต่รุ่นคุณยาย เธอคือหนึ่งคนที่คลุกคลีและเห็นวงจรความเป็นไปของดอกไม้ตั้งแต่มันถูกส่งมาจากต่างประเทศ วันที่สวยงาม จนกระทั่งวันที่เหี่ยวเฉา และโดนเลหลังในราคา Sale ในวันท้ายๆ ของชีวิต
เมื่อนักออกแบบอย่างอาย มาเจอกับนักจัดดอกไม้อย่างเอิร์ธ โปรเจ็กต์ทดลองถึงความเป็นไปได้บางอย่างจึงเกิดขึ้น…

เรามองดูกระดาษที่ห่อหุ้มดอกไม้ชนิดต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อว่ากระดาษเหล่านี้จะทำมาจากดอก ใบ และกิ่งก้านของพวกมันเองใน Exhibition of Floral and Experimental Materials Flower Matter : Rethinking the Future of Flower Waste นิทรรศการขนาดทดลองที่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ว่า Waste จากดอกไม้เหลือทิ้ง จะสามารถ ‘เป็น’ อะไรได้อีกบ้าง
“อายรู้จักเอิร์ธตอนเรียน Product Design ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จากตอนแรกกะว่าจะแค่มาคุย ทำรีเสิร์ชเฉยๆ พอโควิดมาอีกรอบ ทำให้มีเวลาได้อยู่บ้านนานขึ้นอีกหนึ่งเดือน จึงคุยกับเอิร์ธว่าสนใจทำโปรเจ็กต์นี้ด้วยกันมั้ย” เรานัดเจอกับอาย – นักออกแบบ และคิวเรเตอร์ของนิทรรศการที่จัดในถิ่นของเอิร์ธ – นักจัดดอกไม้ ณ Sunflower / ſ ตลาดปากคลอง
ระหว่างที่อายและเอิร์ธทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็พบว่า ตามปกติแล้ว ดอกไม้เหลือทิ้งจากตลาดปากคลองจะถูกจัดอยู่ในหมวดขยะอินทรีย์ เหมือนกับเศษอาหารทั่วไป แล้วทุกวันก็จะมีรถจากกรุงเทพมหานคร มารับขยะดอกไม้พวกนี้ไปอีกต่อหนึ่ง มีคำถามอีกมากมายที่พวกเธอยังไม่ได้รับคำตอบแน่ชัดเกี่ยวกับวงจรชีวิตของดอกไม้พวกนั้นว่ามันจะไปลงเอยที่ไหน และเป็นอย่างไรต่อไปหลังจากนั้น
“อายุของดอกไม้จริงๆ สั้นมาก นับจากวันที่ของมาลง มันจะอยู่ได้ประมาณ 4 วัน แล้วแต่ประเภท หลังจากนั้นก็จะขายในราคา Sale เพราะขายไม่หมดหรือขายไม่ทัน แต่ก็มีน้อยคนที่ซื้อของ Sale เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เป็นร้านดอกไม้ที่เขาต้องรับของไปสต็อกอีกทีหนึ่ง ในแต่ละสัปดาห์ เราเห็นดอกไม้ถูกทิ้งจำนวนเยอะมากๆ ทั้งที่มันยังสวยอยู่ อย่างร้านของบ้านเอิร์ธเอง ทิ้งทีหนึ่งก็ 2 ลังใหญ่ๆ ทุก 2-3 วัน เลยกลับมาดูว่าร้านเราเหลือดอกไม้อะไรบ้าง มีปริมาณเท่าไร แล้วก็ยกให้อายเอาไปใช้ทำงานทั้งลังเลย” เอิร์ธ เล่าให้เราฟัง

“อายลองนับดอกไม้ที่ได้จากร้านของเอิร์ธ นับได้ทั้งหมดประมาณ 850 ก้าน ดอกไม้ที่เหลือทิ้งเยอะสุด คือ กุหลาบ ทานตะวัน ทิวลิป กับคาเนชั่น เราก็เลยเลือกดอกไม้ 4 ชนิดนี้เป็นชนิดที่จะใช้หลักๆ ในการทดลอง เริ่มจากตั้งสมมติฐานว่าดอกไม้สามารถนำมาย่อยเป็นอะไรได้บ้าง เป็นเส้นใย เป็นผง เป็นกระดาษ แล้วอายก็ทำการแยกดอกไม้ออกมาเพื่อให้เห็นสีและเท็กซ์เจอร์ของแต่ละชนิด โดยใช้ความรู้ตอนที่เคยทำธีสิสมาใช้”
“ตอนอายอยู่ฟินแลนด์ เขาจะมีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานกับร้านดอกไม้ค้าส่ง นำดอกไม้ที่ต้องทิ้งในแต่ละวันมาจัดเป็นช่อ แล้วนำไปมอบให้คนแก่ในบ้านพักคนชรา อายก็เลยไปขอดอกไม้ที่เขาใช้จัดช่อไม่ได้มาทำงานเราอีกทีหนึ่ง ใช้คำว่าลองเล่นก็น่าจะได้นะ ทั้งลองต้ม ลองปั่น ลองดูว่าทำให้แห้งได้มั้ย ถ้าทำแบบนั้นแบบนี้ ผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง เราใช้ประสบการณ์จากที่เคยทำที่นั่น สุดท้ายได้ออกมาเป็น 2 เซ็ตหลักๆ คือวิธีที่ทำกับส่วนที่มีใยกับส่วนที่ไม่มีใย ส่วนที่มีใยก็ เช่น ก้าน ใบ ทำวิธีการเดียวกับการทำกระดาษสา ต้ม ล้างใย ปั่นใย ตีใยให้แตก พอได้เส้นใยก็นำมาทำเป็นกระดาษ อายลองนำมาผสมกับกาว ซึ่งก็คือแป้งข้าวโพดที่กวนขึ้นมาเอง ปรากฏว่ามันออกมาเท็กซ์เจอร์คล้ายๆ กับหนังเทียม ส่วนกลีบของดอกไม้บางชนิด สามารถทำเป็น Pigment สีได้อย่างที่เห็น” อายเล่าถึงการทดลองทั้งหมดที่เกิดขึ้นที่นี่ โดยไม่ได้ใช้เครื่องมือในแล็บ แต่เป็นการทดลองที่บ้านของอายเอง ใช้เตาเเก๊ส ครก สาก อะไรก็ตามแต่จะหาได้”


เส้นใย สี และวัสดุที่ได้จากการทดลอง ถูกโชว์ไว้ในตู้ เพื่อให้เห็นว่าเมื่อดอกไม้หนึ่งดอกว่าผ่านกรรมวิธีต่างๆ มาแล้ว มันจะออกมาหน้าตาแบบไหน แม้ว่าจะเปลี่ยนรูปโฉมจากดอกไม้สวยงามมาเป็นเท็กซ์เจอร์ทั้งแบบผงสี เส้นใย กระดาษ และวัสดุคล้ายหนังเทียม แต่พวกมันก็ยังไม่หยุดที่จะวิวัฒนาการตัวเองไปเรื่อยๆ โดยที่สีของมันจะเปลี่ยนไปตามเวลา ธรรมชาติน่าอัศจรรย์อย่างนี้นี่เอง
นิทรรศการจัดแสดงทั้งหมดเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์ แม้จะสั้นมาก แต่ก็แสดงให้เห็นสัจธรรมของอายุขัย จากวันที่ดอกไม้สวยงาม สู่วันที่ร่วงโรยเหี่ยวเฉาได้เป็นอย่างดี สุดท้ายแล้วดอกไม้ในช่อก็จะย่อยสลายไปพร้อมกับกระดาษที่ห่อหุ้มพวกมัน ซึ่งตัวกระดาษที่เกิดจากการทดลองนี้ก็ยังสามารถย่อยสลายได้เมื่อนำไปละลายน้ำ ในวันสุดท้ายของการจัดแสดง อายได้นำวัสดุเหล่านี้กลับไปพัฒนาในห้องแล็บที่ฟินแลนด์ต่อไปด้วย
“อายเรียนมาทางดีไซน์จ๋าๆ ยังต้องพึ่งพาฝั่งวิทยาศาสตร์อีกมาก ซึ่งพอทำงานที่เมืองไทย การเป็นดีไซเนอร์แล้วไปขอความร่วมมือจากฝั่งวิทย์ฯ เขาก็จะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าเราทำอะไร แต่ตอนที่ทดลองทำในมหาวิทยาลัยที่โน่น เขามีอาจารย์ที่เป็นนักวิทย์ฯ เป็นที่ปรึกษา พอมันมีแล็บที่มีเครื่องมือพร้อม แค่บอกเขาว่าเราอยากทำแบบนั้นแบบนี้ พอจะเป็นไปได้มั้ย เราก็สามารถทดลองได้ทันที”




“เราคุยกันว่าไม่อยากให้มันจบแค่นิทรรศการที่คนมาดูแล้วผ่านไป แต่เราอยากต่อยอดทำให้เป็นธุรกิจ Recycling Hub สร้าง Hub ในย่านที่มีตลาดดอกไม้เยอะๆ เช่น ตลาดปากคลองที่นี่ หรืออย่างในภาคเหนือที่แต่ละไร่ต้องคัดดอกไม้ทิ้งเป็นจำนวนเยอะๆ เพราะไม่สามารถส่งออกได้ แล้วเราก็รับดอกไม้พวกนั้นนำมาผ่านกระบวนการการผลิตเป็น Raw Material ที่มีคุณภาพ เพื่อให้แบรนด์หรือธุรกิจอื่นๆ นำไปพัฒนาเป็นโปรดักของเขาอีกทีหนึ่ง”
เราลองสัมผัสวัสดุคล้ายหนังเทียม (ที่ก็คล้ายกับแผ่นมะม่วงกวนด้วย) พบว่ามันช่างคล้ายคลึงกับหนังจริงๆ นี่อาจเป็นความหวังของ Circular Supplies หรือวัสดุทดแทนใหม่ๆ โดยนักออกแบบไทย ที่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การนำ Waste มาใช้ และยังเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ อายยังบอกอีกด้วยว่า ในการทดลองครั้งนี้ Baking Soda คือเคมีแรงสุดที่เลือกใช้ ในอนาคต เธออยากให้มันพัฒนาต่อไปเป็นวัสดุ Food Grade ที่บรรจุอาหารได้ และเป็น Hypo-Allergenic Material หรือวัสดุที่ไม่ก่อให้เกิดการแพ้เมื่อสัมผัสให้ได้มากที่สุดด้วย
“คงต้องลองดูว่า ถ้าวัสดุเหล่านี้ผ่านกระบวนการต่างๆ เช่น โดนความร้อน เคมีมันจะระเหยไปแค่ไหน หรือว่ามีสารเคมีเพิ่มขึ้นไปอีก ถึงแม้ Process เราจะออร์แกนิก แต่สำหรับดอกไม้ เราไม่สามารถควบคุมเรื่องนั้นได้เลย เพราะดอกไม้ที่ได้มาจากแหล่งส่วนใหญ่อย่างจีนหรือฮอลเเลนด์ ซึ่งก็มาจากหลากหลายฟาร์มในยุโรปอีกทีหนึ่ง เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเขาปลูกกันยังไง ใช้เคมีมากน้อยแค่ไหน” อายกล่าว

“อาจเป็นไปได้ถ้าฟาร์มต้นทางเขาเป็นออร์แกนิก แล้วเขามี Waste จำนวนหนึ่งที่จำเป็นต้องทิ้ง ส่วนดอกไม้สำหรับกิน หรือตกแต่งอาหารโดยเฉพาะ เรามองว่านั่นอาจเป็นตลาดที่ Niche มากๆ จุดประสงค์ของการนำไปใช้ก็ต่างกัน วอลลุ่มอาจไม่ได้เยอะมากพอที่จะมี Waste ขนาดนั้น แล้วก็คงไม่ได้ตอบโจทย์ของเราที่อยากจะจัดการเรื่อง Waste ด้วย อีกอย่าง เรามองว่า Waste จากดอกไม้ มันเยอะมากซะจนเราอาจไม่จำเป็นต้องได้ดอกไม้จากฟาร์มที่เขาไม่จำเป็นต้องทิ้ง เรามาทำหน้าที่เป็นส่วนต่อขยาย เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่อง Waste ที่เกิดขึ้นจริงๆ ดีกว่า”
“การทำสิ่งนี้ในเมืองไทย ความยากคือเรื่องทุนในการหาเครื่องมือการผลิต แต่ถ้าเรื่องวัตถุดิบ อายว่ามันง่ายกว่าทำในต่างประเทศมาก เพราะเรามีตลาดปากคลองทั้งตลาดเป็น Hub อยู่แล้ว การจัดนิทรรศการครั้งนี้เหมือนเป็นการลองเชิงดูว่ามีคนสนใจสิ่งที่เราทำอยู่นี้มากน้อยแค่ไหน และมีใครอยากจะร่วมไปกับเราบ้าง เพราะมันอาจต้องมีคนช่วยซับพอร์ตในบางกระบวนการที่เราไม่สามารถทำเองได้ ถ้ามีคนสนใจซับพอร์ตตรงนี้ มันก็จะช่วยได้มาก เราอยากทำให้มันออกมาเป็น Business Model จริงๆ ที่มาช่วยเติมเต็มวงจรของธุรกิจดอกไม้ ซึ่งเราหวังว่ายิ่งได้ความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ก็น่าจะยิ่งช่วยให้ทำงานได้ง่ายขึ้น”
ส่วนทายาทธุรกิจดอกไม้อย่างเอิร์ธมองว่า หากเกิดธุรกิจจาก Waste ของดอกไม้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นจริงๆ ก็อาจช่วยทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในกลุ่มชุมชน พ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงเจ้าของธุรกิจค้าส่งดอกไม้ได้ไม่น้อยเลย
“เราก็กลับไปเล่าไอเดียนี้ให้คนที่บ้านฟังเหมือนกัน เขาก็เห็นด้วยนะว่า ถ้าเราสามารถเพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับ Waste ของดอกไม้ได้ก็น่าจะดี พ่อค้าแม่ค้าเขาน่าจะมีรายได้จากตรงเพิ่มเข้ามา เพราะจริงๆ ถ้ามองในแง่คนทำธุรกิจดอกไม้ Waste พวกนี้ถือเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่กลับมากระทบกับคนขายด้วยเหมือนกัน”


เราถามอายที่กำลังเตรียมเก็บข้าวของกลับไปเรียนต่อที่ฟินเเลนด์ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ว่า ชีวิตคนฟินแลนด์ผูกพันกับดอกไม้มากมายเท่าบ้านเราหรือเปล่า แล้วตลาดดอกไม้ที่นั่นเขาคึกคักเท่าปากคลองบ้านเราไหม ทั้งอายและเอิร์ธถึงกับขำ พร้อมกับส่ายหน้า
“ไม่เลย ที่ฟินแลนด์ไม่มีตลาดดอกไม้ จะมีก็แค่ร้านค้าส่งใหญ่ๆ ประมาณไม่กี่เจ้าในประเทศ แล้วร้านดอกไม้เขาก็จะไปรับจากตรงนั้นอีกทีหนึ่ง ร้านดอกไม้ที่ว่านี้ก็ไม่ได้เป็นลักษณะร้านค้ารายย่อยแบบบ้านเราที่มีอยู่ทั่วไปด้วยนะ จะมีเป็นแค่แฟรนไชส์เล็กๆ อยู่ตามห้างฯ ชื่อร้านจะมีไม่กี่ร้าน ซ้ำๆ กัน อะไรแบบนั้น”
“อีกอย่างคือในวัฒนธรรมของบ้านเขาก็ไม่ค่อยได้ใช้ดอกไม้มากเท่าบ้านเราขนาดนี้ คิดดูสิ บ้านเราเปิดร้านขาย Bouquet ออนไลน์แล้วอยู่ได้น่ะ คนที่โน่นเขาไม่เข้าใจหรอกว่าทำไม Bouquet ของบ้านเราหรือโซนเอเชียอย่างเกาหลี ถึงต้องห่อแบบอลังการขนาดนั้น คนฟินแลนด์อย่างมากเขาก็แค่จัดแบบเรียบง่าย ห่อใส่กระดาษสีน้ำตาลธรรมดาๆ ในงานแต่งก็มีดอกไม้ไม่มาก ไม่อลังการเท่าบ้านเราเหมือนกัน เน้นง่ายๆ มินิมอล”
สิ่งที่อายและเอิร์ธพูด ทำให้รู้สึกสะท้อนใจเหมือนกันว่า เราต่างต้องการบริโภคดอกไม้กันมากมายขนาดนี้เชียวหรือ และมันฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็นไปมากน้อยแค่ไหนกันนะ
“แต่ถึงยังไงเราก็มองว่า การจะห้ามไม่ให้คนบริโภคเลย มันคงเป็นไปไม่ได้ แถมอาจจะทำให้สีสันความเป็นบ้านเราหายไปด้วย ธุรกิจส่งออกดอกไม้บ้านเราก็เป็นธุรกิจหลักๆ ที่ทำรายได้เข้าประเทศ การที่อยู่ๆ เราหยุดบริโภค หยุดซื้อดอกไม้ หยุดใช้ดอกไม้ในงานพิธี ในโอกาสต่างๆ มันอาจกระทบต่อวิถีชีวิตคนจำนวนมากกว่าที่เรารู้ก็ได้นะ แค่คนในปากคลองนี่ก็เยอะแล้ว ไหนจะคนขาย ไหนจะคนปลูกอีก สิ่งที่เราทำมันเป็นการนำเสนอโซลูชั่นที่ทำให้ทุกคนที่ว่ามาสามารถอยู่ด้วยกันทั้งระบบได้ เราว่ามันจะเป็นวงจรที่ยั่งยืนมากๆ เลย”



ติดตามผลงานของอายได้ที่ : irenepurasachit.com
Instagram : irenepurasachit
______________________________________________________________
ติดตามผลงานของเอิร์ธได้ที่ : Flowers in the Mist