Skip links

‘Ira’ (ไอร่า) แบรนด์ผ้าอนามัยที่ต้องการเป็นมูฟเม้นต์เพื่อความเท่าเทียม

Image Credit : Creativemoment.co

ข่าวหนึ่งรายงานว่า เด็กผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในสหราชอาณาจักร ไม่มีเงินเพียงพอจะซื้อผ้าอนามัย นั่นทำให้ต้องขาดเรียนในวันที่มีประจำเดือน หรือไม่ก็ต้องใช้ถุงเท้า แม้แต่กระดาษหนังสือพิมพ์ แทนผ้าอนามัย 

ส่วนสก็อตแลนด์และเวลส์ ประกาศเป็นประเทศเเรกๆ ในโลกที่ผ่านร่างกฎหมายให้ผ้าอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้หญิงทุกคนสามารถเข้าถึงได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขณะที่ผู้หญิงบางประเทศในโลกต้องเสียภาษีให้กับผลิตภัณฑ์อนามัยตั้งแต่ 5% จนถึง 27% เลยทีเดียว

ข่าวเล็กจิ๋วไปอีก เมื่อ Pantone หรือ Pantone Color Institute สถาบันผู้เชี่ยวชาญเรื่องเฉดสีระดับโลก เปิดตัวสีใหม่ประจำเดือนกันยายนปีที่แล้ว เหมือนเช่นทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ชื่อของมันคือ ‘Period’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญรณรงค์เพื่อสร้างทัศนคติใหม่ต่อประจำเดือนของผู้หญิง 

ฟังดูไม่ใช่ข่าวใหญ่อะไรเลย แต่ข่าวเล็กๆ เหล่านี้นี่แหละที่โลกอาจต้องหันกลับมาสนใจอย่างจริงจังได้แล้วว่า ‘ประจำเดือน’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของผู้หญิง ที่ผู้หญิงเท่านั้นต้องรับผิดชอบ (และรับกรรม) กับร่างกายของตัวเองเพียงผู้เดียวอีกต่อไปแล้ว เพราะมันคือปัญหาใหญ่ระดับโลก (ไม่ว่าจะโลกที่ 1 หรือโลกที่ 3) ที่สะท้อนปัญหาทุกด้านในสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ปัญหาด้านสุขอนามัย ความไม่เท่าเทียม การกดขี่ทางเพศ ไปจนถึงปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ล้มเหลว 

“ไม่น่าเชื่อใช่มั้ยว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ หรืออังกฤษ จะมีสถิติออกมาในแต่ละปีว่ามีเด็กผู้หญิงจำนวนมากแค่ไหนที่ต้องขาดเรียนในวันที่ประจำเดือนมา เนื่องจากไม่มีเงินพอจะซื้อผ้าอนามัย คนเราต้องหมดโอกาสทางการศึกษา เพียงเพราะว่ามีมดลูกเท่านั้นจริงเหรอ…”  

รุ้ง – วรางทิพย์ สัจจทิพวรรณ คือผู้ก่อตั้ง ‘Ira’ (ไอร่า) แบรนด์ผ้าอนามัยสัญชาติไทยท่ีนอกจากจะอยากเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อความเท่าเทียมแล้ว ผลิตภัณฑ์ของเธอยังถูกสร้างมาให้เป็นนวัตกรรมด้านสุขอนามัยของโลกยุคใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

“ตั้งแต่เด็ก เรารู้ว่าเรื่องประจำเดือนกับเรื่องฮอร์โมน สำหรับเรามันเป็นปัญหา แล้วเราก็ไม่ได้มีความรู้มากมายไปกว่าเด็กวัยเดียวกันคนอื่นๆ พอโตขึ้น เราทำงานในองค์กรที่มีเรื่อง Workplace Sexism (อคติทางเพศในที่ทำงาน) นั่นทำให้การมีประจำเดือนของเราหรือผู้หญิงคนอื่นๆ ถูกมองว่าเป็น Period Stigma หรือเป็นเรื่องน่ารังเกียจที่ไม่ควรพูดถึง เราเจอเรื่องแบบนี้กับตัวเองมาตลอด ส่วนหนึ่งเพราะเราทำงานในองค์กรที่ค่อนข้างมีระบบชายเป็นใหญ่ บ่อยครั้งเราถูก Sexual Harrasment (คุกคามทางเพศ) จนความไม่พอใจเริ่มสะสมมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ เรานึกอยากทำผ้าอนามัยหรอก มันเริ่มมาจาก Pain Point ต่างๆ ของตัวเองนี่แหละ เราอยากทำโปรดักอะไรสักอย่างที่พูดแทนสิ่งที่เราและหลายๆ คนเจอ อะไรที่จะเป็นตัวแทนของความเท่าเทียมและเปลี่ยนทัศนคติเหล่านั้นได้บ้าง” 

22 กันยายน 2019 คือวันที่รุ้งตัดสินใจกับตัวเองว่าต้องบอกลางานราชการที่มั่นคง มาทำตามที่ใจเรียกร้อง

“เราตัดสินใจว่าต้องทำแล้ว เพราะสิ่งที่เจอมาในการทำงานองค์กร ทำให้เราเหมือนเริ่มจะสูญเสียตัวตน การลาออกจากงานวันนั้นเหมือนเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเลย แน่นอนว่าที่บ้านก็ไม่ได้เข้าใจหรอกว่าเราจะลาออกจากงานประจำทำไม ยิ่งบอกเขาว่าเราจะลุกขึ้นมาทำแบรนด์ผ้าอนามัย เขายิ่งไม่เก็ตไปกันใหญ่ โชคดีที่มีพี่สาวและแฟน เป็นคนสนับสนุนและเชื่อมั่นในตัวเรามาตลอดว่าเราทำได้”

The Era of ‘Ira’ | ลาก่อนยุคสมัยผ้าอนามัยโลกเก่า

“เรามองว่าผ้าอนามัยเป็น Sex Symbol ของผู้หญิง เป็นโปรดักที่มีช่องว่างมากที่สุด และทุกคนต่างก็มีประสบการณ์ส่วนตัวกับมันไม่เหมือนกันเลย

เราอยากจะทำให้ผ้าอนามัยเป็นโปรดักที่นอกจากจะแก้ปัญหา ยังช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับคนที่ใช้มันด้วย”

จากความคิดริเริ่ม จนถึงวันที่ Ira พัฒนาออกมาเป็นรูปร่างหน้าตาแบบนี้ได้ ถ้าคนที่ทำใจไม่แข็งพอ ก็ต้องอาจเป็นท้อไปซะก่อน เพราะภาพจำของผ้าอนามัยหรือ ‘โกเต็ก’ เมื่อสมัยคุณแม่เราสาวๆ เป็นยังไง ทุกวันนี้หน้าตาของมันก็แทบไม่เปลี่ยนแปลง หรือเเทบจะเปลี่ยนน้อยมาก เราไม่ได้แค่หมายถึงหน้าตารูปลักษณ์ของมันเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยน แต่รวมถึง ‘การรับรู้’ (Perception) ของผู้คนที่มีต่อตัวมันเองด้วย เช่น ในงานโฆษณา ภาพพรีเซ็นเตอร์ผ้าอนามัยก็ต้องเป็นผู้หญิงสวย (ตามสมัยนิยม) สดใส สายหวาน หรืออย่างในยุคนี้ก็ต้องเป็นภาพสาวมั่น พร้อมลุยทุกสถานการณ์ ไม่หวั่นแม้วันมามาก! (เห็นมั้ย แค่พูดก็นึกภาพกันออกแล้ว) 

ในชีวิตจริง ผ้าอนามัยที่เป็นเพื่อนของผู้หญิงสดใสมั่นใจคนนั้น กลับกลายเป็นสิ่งของที่ต้องแอบซ่อนให้พ้นตา จะเดินถือโจ่งแจ้งเหมือนของทั่วไปก็ไม่ได้ เวลาจะหยิบไปใช้ทีก็ต้องแอบใส่กระเป๋าน้อย เวลาจะซื้อก็ต้องรีบๆ หยิบ แถมพนักงานแคชเชียร์ยังซ้อนถุงไม่ให้เห็นอีกว่าเป็นผ้าอนามัย เห้ออ! ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ในยุคที่อะไรๆ ดูเหมือนจะเปิดกว้าง แต่การทำให้การที่ใครสักคนจะสร้างผ้าอนามัยขึ้นมาใหม่ เพื่อพูดเรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“ถ้าในแง่ Innovation (นวัตกรรม) แทบไม่มีอะไรใหม่ ยิ่งเรื่อง Perception ของผ้าอนามัยยิ่งไม่เปลี่ยนเลย ในแง่หนึ่งอาจเพราะมันถูกควบคุมโดยคนระดับบริหารที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ซึ่งเขาอาจไม่เข้าใจปัญหาจริงๆ ไม่เข้าใจว่าผู้หญิงหรือ User ทุกวันนี้ต้องการอะไร สิ่งที่ผู้ผลิตโฟกัสจึงไม่ใช่การแก้ Pain Point ที่ตรงจุดของผู้บริโภค” 

“เราออกแบบ Ira ขึ้นมา อย่างแรกเลยเพื่อให้มันทำลาย Period Stigma หรือความคิดความเชื่อที่ฝังอยู่กับสังคมเรามานานมากๆ ว่าเรื่องประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอายที่ไม่ควรพูดถึง เราเคยอ่านกระทู้หนึ่งที่บางคนบอกว่าผ้าอนามัยสมัยนี้ แค่เดินผ่านยังได้กลิ่นเลย นั่นเพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอายถ้ามีกลิ่นออกมา น้ำหอมถูกใส่เข้ามาเพื่อปกปิดธรรมชาติของร่างกายเอาไว้ กลบปัญหาที่มีอยู่ ไม่ได้แก้ปัญหา กลายมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าตัวเองมีอะไรผิดปกติ หรือรู้สึกไม่มั่นใจ ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติ” 

Pain Point เหล่านี้นำมาสู่การสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับผ้าอนามัย เริ่มจากหน้าตาของ Ira ที่หากไม่ดูชัดๆ ก็อาจเข้าใจว่าเป็นสินค้าดีไซน์อะไรสักอย่าง เพราะแพ็กเกจจิ้งที่อิงหลักการออกแบบ Minimal Design ของมัน ไม่มีทั้งสีชมพู ไม่มีทั้งสีพาสเทลหรือลายดอก มีเพียงตัวหนังสือบอกข้อมูลชัดเจนที่ผู้บริโภคอย่างเราจำเป็นต้องรู้ บนกล่องสีขาวเรียบๆ หน้าตาของมันไม่ได้เหมือนผ้าอนามัยที่เราเคยรู้จักเลยสักนิด 

“ความจริงตัวเราเองก็คิดอยู่นานว่าแบบไหนถึงจะเป็น Pecfect Packaging Design เราเป็นคนหนึ่งที่เวลาไปซื้อผ้าอนามัยในร้านสะดวกซื้อหรือตามซูเปอร์ฯ สังเกตว่าพนักงานจะซ้อนถุงให้ 2 ชั้น ไม่ให้เห็นว่าเป็นผ้าอนามัย เพราะกลัวเราอายเวลาเดินถือออกไป เราเลยรู้สึกว่าการออกแบบเเพ็กเกจจิ้งที่ดี สามารถทำให้เราก้าวข้ามกำแพงพวกนี้ไปได้ เพียงแค่ไม่ได้มีคนเคยทำมาก่อน ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเกิดขึ้นไม่ได้สักหน่อย” 

Honesty & Transparency | หมุดหมายใหม่ของแบรนด์รักโลก

เมื่อ Minimal Design เป็นคีย์หลักของการออกแบบกล่องผ้าอนามัย Ira ข้อดีของมันคือสามารถให้ข้อมูลสำคัญที่ผู้บริโภคควรรู้ไว้อย่างแจ่มแจ้ง ว่าแต่ละชั้นของผ้าอนามัย 1 ชิ้น ทำจากวัสดุอะไร มีส่วนผสมอะไรบ้าง และวัสดุนั้นๆ ย่อยสลายได้กี่เปอร์เซ็นต์  ‘ตามความเป็นจริง’ เพราะในยุคที่แบรนด์ต่างๆ กำลังตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเช่นตอนนี้ ความน่ากลัวคือ ผู้บริโภคอย่างเราแทบไม่สามารถแยกออกเลยว่าผลิตภัณฑ์ที่ว่าดีต่อโลก อันไหนดีจริง อันไหน Greenwashing (ถูกทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์รักโลก) กันแน่ เพียงแค่การทำหีบห่อรูปลักษณ์ที่ดู ‘กรีนๆ’ หรือแม้แต่การระบุข้อมูลเพียงบางส่วน ก็อาจจะทำให้เราเข้าใจผิดได้แล้ว 

“มีบางแบรนด์ที่ผลิตมาสำหรับคนผิวแพ้ง่าย โดยด้านบนทำจากคอตตอนออร์แกนิก แต่ด้านล่างยังเป็นพลาสติกอยู่ แล้วพอมันถูกระบุว่าเป็นออร์แกนิก ก็เลยถูกจัดให้เป็นผ้าอนามัยเกรดพรีเมี่ยม ซึ่งพอแบบนั้น ราคาก็แพงตามไปด้วย เรารู้สึกว่าทำไมโปรดักที่ดีต่อผู้บริโภค ถึงเข้าถึงได้เฉพาะคนที่มีกำลังจ่ายเท่านั้น”

“แต่ถึงจะระบุว่าเป็นผ้าอนามัยออร์แกนิก บางเเบรนด์ก็ไม่บอกเราทั้งหมด ออร์แกนิกคือส่วนไหนบ้าง ย่อยสลายได้ที่ว่านี่กี่เปอร์เซ็นต์ แล้ววัสดุอื่นๆ ล่ะ ทำจากอะไร บางแบรนด์อาจจะใส่เป็นตัวย่อ ใส่ดอกจันทร์ไว้ข้างล่างตัวเล็กๆ ผู้บริโภคแทบจะไม่รู้เลย นั่นแปลว่าแบรนด์ก็ยังไม่ได้โปร่งใสมากพอ ส่วนหนึ่งที่เราอยากทำ Ira ขึ้นมา เพราะเราสงสัยว่าทำไมแบรนด์ถึงไม่บอกข้อมูลเหล่านี้กับผู้บริโภคตรงๆ ทำไมคุณถึงต้องให้เราไปรีเสิร์ชมากมาย กว่าจะรู้ว่าแต่ละอย่างคืออะไร มีไว้เพื่ออะไร หรือทำมาจากอะไร Cotton (ผ้าฝ้าย) เอง เป็นวัสดุออร์แกนิกจริง แต่ก็เป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้าง Labour Intensive (ใช้แรงงานจำนวนมากในการผลิต) และยังใช้ทรัพยากรน้ำเยอะมากด้วย ซึ่งมันก็มีวิจัยออกมาแล้วว่าถึงจะเป็นคอตตอนออร์แกนิก ก็ยังใช้ทรัพยากรที่มากมายอยู่ดี” 

ด้วยความตระหนักถึงทรัพยากร Ira เลยเลือกที่จะใช้วัสดุอย่างใยไม้ไผ่ วัสดุจากพืชที่นอกจากจะมี Anti-bacterior ในตัวเอง สามารถปลูกทดแทนได้ มาจากแหล่งปลูกที่ยั่งยืน ยังย่อยสลายได้ถึง 99% โดยที่แผ่นด้านล่างก็ทำจากพืช มีคุณสมบัติกันน้ำกับเชื้อโรค และย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบภายใน 6-12 เดือน โดยแต่ละเลเยอร์ของ Ira จะมีใบรับรองการย่อยสลายแตกต่างกัน 

นอกจากนั้น ผ้าอนามัยของ Ira ไม่เติมสารเคมีที่เป็นอันตราย ไม่ใส่น้ำหอม ไม่มีสารฟอกขาว (Chlorine bleach) รวมถึงไม่ใส่สารที่เรียกว่า SAP (Super Absorbent Polymer) สารที่ผ้าอนามัยมักจะใส่ลงไปเพื่อช่วยดูดซับประจำเดือนไม่ให้เปื้อนซึม แต่เมื่อรวมกับประจำเดือนแล้วจะแปรสภาพเป็นเจล ซึ่งย่อยสลายตามธรรมชาติแทบจะไม่ได้เลย การไม่ใส่สาร SAP ยังมีข้อดีอีกอย่างคือ ช่วยให้เราสามารถเห็นสีและปริมาณประจำเดือนตามจริง ทำให้รู้สภาวะของร่างกายตัวเองมากขึ้นด้วย

“เพราะคำว่ายั่งยืน หรือ Sustainability มันไม่ใช่แค่ตัวโปรดักซ์​ แต่หมายถึง Supply Chain ทั้งหมด ตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค เรารู้สึกว่าไหนๆ จะทำแล้ว ก็ต้องเข้าใจสิ่งที่ทำให้ถึงที่สุด เพราะถ้าตัวเราเองยังถามคำถามเหล่านี้เลย ผู้บริโภคเขาก็ต้องตั้งคำถามเหมือนกัน แล้วเราต้องตอบให้ได้ด้วย” 

“เราไปถามแบรนด์ทั่วโลกเลยนะว่า โปรดักของคุณที่เคลมว่าออร์แกนิก 100% มัน 100% จริงหรือเปล่า สุดท้ายเขาก็ตอบไม่ได้ เราเชื่อว่าถึงจะไม่ได้ออร์แกนิกทั้งหมด แต่ถ้าแบรนด์มีเหตุผลมารองรับ ผู้บริโภครุ่นใหม่เขาก็ตัดสินใจเองได้อยู่แล้ว พอเราเป็นผู้ผลิตที่โปร่งใสมากพอ มันจะกลายเป็นการเซ็ตมาตรฐานขึ้นมาใหม่ ต่อไปแบรนด์จะต้องถูกผู้บริโภคตั้งคำถาม ถ้าคุณตอบไม่ได้ เขาก็ไม่เลือกคุณ ไปเลือกแบรนด์อื่นที่ตอบได้ แค่นั้นเอง มันช่วยทำให้แบรนด์ตระหนักเรื่องความโปร่งใสและความซื้อสัตย์มากขึ้น”

Fifty Shades of Red | ประจำเดือน เรื่องของทุกคน

‘Femtech’ หรือ Female Technology เป็นศัพท์ใหม่ที่ถูกคิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้โดย Ida Tin ผู้ก่อตั้งแอพพลิเคชั่น ‘Clue’ แอพที่ใช้วิทยาศาสตร์ และ Data ในการติดตามสภาวะรอบเดือนของผู้หญิง (Menstrual Cycles) Femtech กลายมาเป็นหนึ่งใน Category ของธุรกิจด้านนวัตกรรมที่นอกจากจะเป็นธุรกิจที่มีเงินลงทุนมหาศาลและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ยังตอบโจทย์ทั้งในทาง Physical Health และ Mental Health เรื่อง Sex และ Relationship การคุมกำเนิด ไปจนถึงการวางเเผนครอบครัว ซึ่งล้วนแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องเหล่านี้มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกันกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม 

“ตอนนี้เราเถียงกันเรื่องเด็กวัยรุ่นท้องก่อนวัย เรื่องการทำแท้ง แต่เราไม่ได้ให้ความรู้หรือปลูกฝังเรื่องนี้กันอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมาเลย หลายครั้งที่สังคมเรามองที่ปลายเหตุ แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ และไม่ได้แก้อย่างเข้าใจ คำถามคือเรามีวิชาเพศศึกษา สุขศึกษา แต่ทำไมเรากลายเป็นสังคมที่มี Misinformation (ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อน) มากมายขนาดนี้ แล้วก็ไม่มีใครกล้าพูด กล้าถามด้วย Ira เลยไม่ได้แค่อยากเป็นแบรนด์ผ้านามัย แต่เราอยากเป็น Femtech ที่ต่อยอดเรื่องเหล่านี้ เพราะถึงเราจะมีวิชาเพศศึกษา สุขศึกษา แต่คนรุ่นใหม่กลับไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปตรวจภายในตอนอายุเท่าไร การไปหาหมอสูฯ ทำไมมันถึงมีความเก้อเขินเยอะ เหตุผลอะไรที่ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่กล้าไปตรวจภายใน บางคนไปหาหมอก็ตอนที่มีความผิดปกติแล้ว อะไรแบบนี้” 

“ตอนนี้ Ira เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ Subscription Model ที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคต้องใช้แบบต่อเนื่องระยะยาว ในอนาคต เราตั้งใจจะเป็นแบรนด์ที่สร้างความเข้าใจ สร้าง Experience ที่ตอบโจทย์ผู้คนให้ได้มากกว่าเดิม เช่น โปรดักสำหรับวัยรุ่น โปรดักสำหรับคนที่กำลังจะเป็นแม่ โปรดักสำหรับคนที่กำลังวางแผนครอบครัว โดยที่เราพยายามตั้งราคาให้คนจับต้องได้มากที่สุด” 

“เราอยากเป็นคนหนึ่งที่ออกมาผลักดันเรื่องนี้ ผ้าอนามัยต้องเข้าถึงได้ ไม่แพง และผ้าอนามัยต้องรักโลกมากกว่านี้ แล้วทำไมออปชั่นรักโลกถึงมีแค่ถ้วยอนามัยหรือผ้าอนามัยแบบซักได้ ซึ่งมันดี แต่เราเชื่อว่ายังเข้าถึงคนส่วนใหญ่ไม่ได้ มันควรมีอะไรที่อยู่ตรงกลางระหว่างรักโลกกับความสะดวกสบายได้บ้าง ถึงจะไม่ได้ Zero Waste ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีกับตัวเอง”

ปัจจุบันภาษีผ้าอนามัยในบ้านเราอยู่ที่ 7% เทียบเท่ากับภาษีของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แถมยังถูกจัดหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยอีกด้วย พอจะหวังได้หรือไม่ หากประเทศเราจะมีสวัสดิการรัฐฯ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้การเข้าถึงผ้าอนามัยเป็นไปอย่างเท่าเทียมเหมือนบางประเทศเกิดขึ้นแล้ว รุ้งบอกว่า เธอเชื่อว่าพอองค์กรเอกชนเริ่มก่อน แล้วภาครัฐฯ เห็น จะค่อยๆ ตามไปเอง

“ผ้าอนามัยอาจเป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการพนักงานในองค์กรก็ได้ มันเป็นการโชว์อะไรหลายอย่างมากนะ โชว์ว่าองค์กรคุณแคร์เรื่องความเท่าเทียม แคร์เรื่องสิทธิสตรี โชว์ว่าคุณใส่ใจความเป็นอยู่ของพนักงานในองค์กรคุณมากแค่ไหน” 

“ประจำเดือนเป็นรายจ่ายที่ผู้หญิงต้องจ่ายทุกเดือนอย่างปฏิเสธไม่ได้ สวัสดิการในที่นี้ เราคงไม่ได้คาดหวังในความหมายว่าต้องแจกฟรี เพราะการแจกฟรีมันจะมีข้อถกเถียงและเงื่อนไขเยอะมาก และอาจจะยากเกินไปสำหรับบ้านเรา ก่อนอื่นอาจต้องเปลี่ยนทัศนคติของคนระดับบริหารว่าประจำเดือนเป็นเรื่องสำคัญ เชื่อมั้ยว่าพูดกับคนที่เป็นผู้หญิงยากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงระดับบริหารเขาจะมี Mindset ที่กรอบมาแล้วว่า ผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จต้องมีภาพลักษณ์ของความแข็งแกร่ง ประมาณว่า ‘ไม่อะ แค่เรื่องประจำเดือนไม่เห็นจะเป็นปัญหาสำหรับฉันตรงไหน…’ แต่กับผู้ชายเขากลับเปิดใจฟังมากกว่าเสียอีก เพราะเป็นเรื่องที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน”

“ต่อไปเราอาจจะนำ 7% ของภาษีผ้าอนามัยที่เราจ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ นำมาเป็นกองทุนผ้าอนามัยให้เด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารได้มั้ย เรามองว่ามันต้องเกิดการเริ่มต้น มาคุยกันว่าจะหาจุดตรงกลางระหว่างกันตรงไหน แล้วค่อยๆ ทำไปด้วยกัน เราหวังว่าพอเรามีเเบรนด์และพาร์ทเนอร์มาร่วมงานกันมากขึ้น มันจะทำให้แบรนด์อื่นๆ เห็นและอยากทำงานกับเราด้วย”  

คอนเท้นต์ในโซเชียลมีเดียคืออีกหนึ่งอาวุธหลักที่ Ira จะใช้เป็น Social Movement พูดตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม ปัญหาปากท้อง สิทธิมนุษยชน ไปจนถึงความเท่าเทียมทางเพศ และใช่… ทั้งหมดนี้คือภารกิจที่ ‘ผ้าอนามัย’ 1 ชิ้น ต้องการจะทำให้สำเร็จ 

“Ira เป็นชื่อที่เราคิดขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่าไม่ต้องการที่จะระบุเพศ (Genderless) และมีความเป็นกลางทางเพศ (Gender Neutral) เพราะเรื่องประจำเดือนหรือผ้าอนามัยไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งแล้ว แต่ในโลกทุกวันนี้มันเป็นเรื่องทุกคน ของทุกคนยังไง ทุกเพศทุกวัยควรจะมีความรู้เรื่องนี้ ผู้ชายก็ต้องเข้าใจด้วยเหมือนกัน เพราะคุณก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผู้หญิง เวลาที่แฟนคุณ หรือภรรยาคุณมีประจำเดือนแล้วฮอร์โมนเปลี่ยน หงุดหงิดง่าย หรืออะไรแบบนี้ คุณจะได้เข้าใจเขามากขึ้น”  

“เราจึงพยายามที่จะครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ ให้ข้อมูลแบบย่อยง่าย เข้าใจง่าย และมีความเป็นไลฟ์สไตล์มากที่สุด ผ้าอนามัยของ Ira เป็นแค่มีเดียเริ่มต้นที่จะพูดเรื่องราวพวกนี้ออกไป” รุ้งกล่าวด้วยสายตามุ่งมั่น

Ira อาจเป็นชื่อที่คอนเซ็ปต์ชวลที่สุดของแบรนด์ผ้าอนามัยบนโลกใบนี้แล้วก็เป็นได้ มันแปลว่า ‘Warrior of the Earth’ หรือ นักรบผู้ปกป้องโลก แม้จะมีตัวอักษรเพียง 3 ตัว บวกกับผู้หญิงตัวเล็กๆ ตรงหน้าเราอีก 1 คน แต่ความหมายและภารกิจของมันช่างยิ่งใหญ่กว่านั้นมากเหลือเกิน

Website : https://www.iraconcept.com
Instagram : ira_concept

ขอบคุณรูปภาพบางส่วนจาก Ira Concept

ขอบคุณสถานที่ : Camp Cafe Ari

Shares
waktogel togelup aye4d
bocoran rtp slot gacor maxwin sbobet togel kamboja