หากผ่านไปมาบนถนนสุขุมวิทโดยไม่ได้สังเกตดีๆ เชื่อว่าหลายคนก็อาจแทบไม่รู้เลยว่ายังมีโรงแรมขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่เป็นโรงแรมสแตนด์อโลนที่ตั้งอยู่คู่ซอยสุขุมวิท 13 มานาน ถ้าลองนับนิ้วดูก็เกินกว่าครึ่งทศวรรษแล้ว
ถึงจะเปิดมานานขนาดนั้น โรงแรมไมอามี่ (Miami Hotel) กลับเริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง เมื่ออยู่ๆ มันก็กลายเป็นโลเคชั่นยอดฮิตของบรรดากองถ่ายหนัง ซีรีส์ เอ็มวี แม็กกาซีนแฟชั่นทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงบรรดาแบรนด์สินค้าที่ต่างก็เข้ามาใช้บริการโรงแรมแห่งนี้เป็นสถานที่ถ่ายทำ ทำให้ภาพของ ‘โรงแรมวินเทจ’ ในยุค 1960s กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง
แต่ไมอามี่สำหรับเรายังมีความหมายมากกว่านั้น เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความรุ่งโรจน์ของงานสถาปัตยกรรมแห่งยุคสมัย เป็นหลักฐานของเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเพียงไม่กี่เเห่งในกรุงเทพฯ ที่ยังหลงเหลืออยู่ และมันก็กำลังเปราะบางลงทุกที ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของพื้นที่บนถนนสุขุมวิทซึ่งทำให้สถาปัตยกรรมเหล่านี้สูญหายไป
โชคดีว่าไมอามี่ ยังคงเป็นไมอามี่เหมือนวันวานที่ยังสวยสดอยู่…

จากไมอามี่ ถึงกรุงเทพฯ
ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1965 หรือราว พ.ศ. 2508 โรงแรมไมอามี่เปิดดำเนินธุรกิจพร้อมๆ กับการปะทุของสงครามเวียดนาม หลายพื้นที่ในประเทศไทยถูกใช้เป็นที่ตั้งฐานของกองทัพสหรัฐฯ พร้อมกับในกรุงเทพฯ ธุรกิจโรงแรมที่พักสมัยนั้นต่างนิยมตั้งชื่อเป็นชื่อเมืองหรือสถานที่สำคัญต่างๆ ในอเมริกา เพื่อให้จดจำง่ายและเป็นการ Warm Welcome เหล่าทหาร GI ที่เดินทางมาพักผ่อนก่อนและหลังจากภารกิจ พอดิบพอดีกับที่ในปีนั้นมีการจัดประกวดนางงามจักรวาลขึ้นที่หาดไมอามี่ รัฐฟอริดา ซึ่งมี อภัสรา หงสกุล เข้าประกวดและได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลคนแรกของประเทศไทย จึงเป็นที่มาของชื่อโรงแรมไมอามี่ และหากสังเกตดีๆ โลโก้ของโรงแรม ก็คือรูปมงกุฏนางงามจักรวาลในปีนั้นนั่นเอง
ถ้าเทียบกับโรงแรม ‘ยุค GI’ ไมอามี่น่าจะเป็นเพียงโรงแรมหนึ่งในไม่กี่แห่งในกรุงเทพฯ ที่ยังคงเปิดดำเนินกิจการเต็มรูปแบบและยังรักษากลิ่นอายความ ‘เดิมๆ’ อยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งหมดคงต้องยกเครดิตให้กับ ‘สุพล ตัณศิริชัยยา’ ที่หลังจากคลุกคลีอยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาหลายปี ได้ตัดสินใจหันทิศทางกลับมาสืบทอดกิจการโรงแรมต่อจากคุณปู่คุณย่า และคุณพ่อของเขาในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ผู้บริหารโรงแรมไมอามี่คนปัจจุบัน

สุพลจะเรียบจบด้านสถาปัตยกรรม ตัวเขาเองเติบโตมากับกิจการของที่บ้านและมีความผูกพันกับไมอามี่มาตั้งแต่จำความได้ หากจะบอกว่าเขาเป็นผู้บริหารที่เรียกได้เต็มปากว่าทำเป็นทุกอย่างในงานโรงแรมก็คงไม่ผิดนัก ภาพของผู้บริหารที่กำลังยืนรถน้ำต้นไม้หน้าโรงแรมยืนยันได้อย่างนั้น
“เกิดมาก็อยู่กับโรงแรมนี้แล้วครับ ทั้งมาเล่นทั้งช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างงานโอเปอเรเตอร์หรือปูผ้า เรียกว่าทำทุกอย่างในโรงแรมเป็นหมด ตกเย็นมาก็เห็นคุณปู่คุณย่าเรียกพนักงานมานั่งประชุม เล่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราก็เหมือนได้ซึมซับสตอรี่ของที่นี่ไปด้วยโดยไม่รู้ตัว เพราะอยู่กับมันทุกวัน” สุพลต้อนรับเราภายในล๊อบบี้ของโรงแรม
เขาเล่าว่าหากโรงแรมไทยในยุคนั้นจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของที่พักประเภทพักผ่อนและพักฟื้น หรือ R&R Hotel (Rest and Recuperation) จะต้องได้มาตราฐานตามที่กองทัพสหรัฐฯ กำหนด ทั้งขนาดของห้องพัก รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพักต่างๆ ที่ต้องมี เช่น เครื่องปรัปอากาศ ทีวี โทรศัพท์ วิทยุ และห้องน้ำในตัว พื้นที่ส่วนกลางมีพนักงานบริการ 24 ชม. มี Coffee Shop สระว่ายน้ำ และมีรถ Shutle Bus ไว้คอยรับส่งระหว่างสนามบิน (แต่ละโรงแรมจะนิยมใช้รถแวน Volkswagen หน้าวี โดยมีสีประจำของใครของมัน)

ลองจินตนาการถึงการสร้างโรงแรมขึ้นมาสักแห่งเพื่อรองรับแขกบ้านแขกเมืองเมื่อ 60 ปีที่แล้ว นอกจากมาตราฐานที่ถูกกำหนด ข้อจำกัดเรื่องวัสดุยังมีอิทธิพลต่องานออกแบบสถาปัตยกรรมด้วย อย่างเช่นตัวอาคารต้องเป็นแบบ Low Rise สูงไม่เกิน 4 ชั้น เนื่องจากข้อจำกัดของฐานรากที่ต้องใช้เสาเข็มไม้เพื่อรับน้ำหนัก แผนผังที่นิยมสร้างกันก็มักจะเป็นรูปตัว U หรือตัว L เพื่อโอบล้อมคอร์ทตรงกลางซึ่งใช้เป็นพื้นที่สำหรับสระว่ายน้ำกลางแจ้งและลานสำหรับพักผ่อน ทั้งยังเต็มไปด้วยดีเทลเล็กๆ อีกหลายอย่าง เช่น Floor-to-floor ของตึกสมัยก่อนที่จะสูงเกือบ 4 เมตร ทำให้ห้องพักของไมอามี่แตกต่างจากห้องพักของโรงแรมสมัยใหม่ เพราะมีเพดานสูง ห้องจึงดูโล่งกว้าง ไม่รู้สึกไม่อึดอัด ถึงขนาดของห้องจะไม่ได้กว้างมากก็ตาม





หรืออย่างฟาซาด (Facade) ของอาคารที่ออกแบบให้มีลูกเล่นโดยใช้ฟิน (Fin) และบล็อคช่องลมคอนกรีตรูปทรงเลขาคณิตที่นิยมกันในงานออกแบบสถาปัตยกรรมยุค Mid-century Modern เพื่อประโยชน์ทั้งบังแสงแดดร้อนตอนกลางวัน เป็นช่องรับลม และเป็นการระบายอากาศภายในอาคารไปในตัว เนื่องจากภูมิอากาศของบ้านเราเป็นแบบร้อนชื้น ถึงแม้ว่าโดยรอบของโรงแรมในปี 2556 จะถูกล้อมไว้ด้วยตึกสูง แต่เมื่อมายืนอยู่ตรงกลางคอร์ทของโรงแรมกลับมีลมพัดเข้ามาตลอดโดยไม่รู้สึกร้อน บ่งบอกภูมิปัญญาของงานออกแบบในยุคสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี
“ถ้าสังเกตุดีๆ จะเห็นว่าช่องลมช่องหนึ่งด้านบนสุดไม่เหมือนช่องลมอื่นๆ เพราะเมื่อก่อนแต่ละห้องของโรงแรมจะใช้เครื่องแอร์แบบแขวน ทำให้มีคอมเพรสเซอร์แอร์วางเต็มไปหมด ดูรกและไม่สวย การรีโนเวทครั้งที่ผ่านมาจึงเปลี่ยนงานวางระบบใหม่ทั้งหมดโดยการเอาคอมเพรสเซอร์แอร์ไปซ่อนไว้ด้านหลังอาคาร”
“และด้วยความที่เป็นอาคารขนาดเตี้ย ทำให้มีการวางท่อทั้งแนวนอน แนวตั้ง ซึ่งท่อน้ำเมื่อก่อนจะใช้วิธีฝังในปูน พอผ่านไปนานๆ ท่อเหล็กก็ขึ้นสนิม ช่วงนั้นเลยต้องรื้อกันมันมาก เรียกว่าใช้งบเยอะกว่าสร้างใหม่ด้วยซ้ำ (หัวเราะ)” เจ้าของโรงแรมรุ่นที่ 3 เล่าให้เราฟังถึงความโหดของงานรีโนเวทและวางระบบใหม่ครั้งล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้


สุพลบอกว่าเมื่อก่อนสีพาสเทลของอาคารและ Interior ภายในโรงแรมไม่ได้สดมากเท่านี้ หลังจากการรีโนเวทใหม่จึงพยายามปรับสีให้มีความสดใส ดูมีชีวิตชีวาขึ้น ส่วนงานกระเบื้องหินขัดเทอราสโซ่สีชมพูที่เรายืนอยู่นี้ก็เป็นของเก่าดั้งเดิมที่ปัจจุบันไม่สามารถหาได้แล้ว
“การรีโนเวทที่นี่มันยากเพราะไอ้โน่นก็อยากเก็บ ไอ้นี่ก็อยากเก็บ เราเลยต้องพยายามผสมทั้งของเก่าและของใหม่ให้มันบาลานซ์กันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โชคดีว่าได้อาจารย์ตุ๊ก (ผศ. ดร. สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว) จากกลุ่ม Vernadoc Thailand ที่ทำงานด้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในประเทศไทย มาช่วยเป็นที่ปรึกษาในการรีโนเวท จนโรงแรมได้รับรางวัลจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านอาคารอนุรักษ์ดีเด่น เหมาะแก่การเผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้เองครับ”

จากเมื่อวาน ถึงวันนี้
คอนเซ็ปต์ของโรงแรมแบบเก่าที่ว่า ‘ทุกพื้นที่ต้องขายได้’ ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ใช้สอยที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่มากขึ้น จากส่วนที่เคยเป็นห้องพักชั้นล่างถูกทุบทิ้งให้เป็นโถงกลางแบบ Outdoor เปิดโล่งสู่สระว่ายน้ำเพื่อใช้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์สำหรับนั่งพักผ่อน อีกทั้งสุพลยังตั้งใจให้เป็นแกลเลอรี่จัดแสดงภาพถ่าย กับของสะสมวินเทจสมัยคุณปู่คุณย่าที่เล่าเรื่องราวในวันวานของโรงแรมด้วย เราจะพบว่าอิทธิพลของเทรนด์ที่คนกลับมาโหยหาอดีตมีส่วนในการฟื้นชีวิตชีวาให้กับไมอามี่ได้ไม่น้อยเลย
“พอคนเข้ามาเห็นแล้วเขารู้สึกตื่นเต้น มุมนั้นก็สวย มุมนี้ก็สวย หรือถ่ายรูปมุมบางมุมในโรงแรมออกมาได้สวยมาก จนผมเองยังนึกไม่ถึงเลยว่าโรงแรมเรามีมุมแบบนี้ด้วยหรอ (หัวเราะ) เพราะเห็นมันมาตั้งแต่เด็กๆ ไม่รู้เลยว่ามันสวยหรือถูกใจคนอื่นมากมายขนาดนี้ บางทีมีแขกต่างชาติที่เป็นสถาปนิกมาพัก เพราะเขาอยากซึมซับบรรยากาศของอาคารเก่า เขาบอกว่าเหมือนได้เสพประสบการณ์บางอย่างที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นได้”
“เมื่อก่อนแขกเกือบทั้งหมดของเราเป็นต่างชาติหมด คนไทยแทบไม่รู้จักเราเลย แต่ตอนนี้มีคนไทยเข้ามาพักเยอะขึ้นมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีแรงส่งมาจากคนที่เข้ามาถ่ายงาน พอเขามาแล้วรีวิว ลงรูปในโซเชียลฯ คนเห็นแล้วตามมา มันก็เลยเกิดการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ”




เราถามเขาว่าจะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งการเช่าถ่ายถึงจุดอิ่มตัว
“ผมมองว่าการเช่าถ่ายเป็นเรื่องของความบังเอิญและผลพลอยได้ ไม่ได้ตั้งใจทำเป็นธุรกิจ เนื่องจาก Core Business ของเรายังคงเป็นตัวโรงแรม สิ่งหนึ่งที่จะทำให้โรงแรมอยู่รอดได้จึงน่าจะเป็นเอกลักษณ์และประวัติศาสตร์ของมันมากกว่า เราไม่ได้วิ่งตามเทรนด์ แต่มีความตั้งใจที่จะรักษาความเป็นตัวตนของโรงแรมเอาไว้ เพราะผมมองว่าการวิ่งตามเทรนด์เป็นอะไรที่ฉาบฉวย ไม่ยั่งยืน ‘สตอรี่’ ของโรงแรมต่างหากที่เป็นตัวกำหนดสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่ตอนนี้ และจะกำหนดอนาคตของเราต่อไป”
สุพลหยิบรูปถ่ายเก่าๆ ของโรงแรมให้เราดู หลักฐานของอดีตหลายชิ้นยังคงอยู่ที่เดิม หลายสิ่งเปลี่ยนหน้าตาไปจากเมื่อก่อน อย่างเช่นบริเวณร้านสะดวกซื้อย่างที่เห็นทุกวันนี้ ในอดีตตรงนั้นเคยเป็น Coffee Shop สไตล์อเมริกันไดเนอร์ที่เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มให้กับแขกที่มาพัก มีหน้าต่างกระจกบานใหญ่มองเห็นวิวสระว่ายน้ำกลางคอร์ทยาร์ดได้ชัดเจน เมื่อมองรูปเก่าๆ หลายรูป เราเองอดรู้สึกเสียดายไม่ได้ที่ปัจจุบันพื้นที่ต้องเปลี่ยนหน้าตาไปเป็นอย่างอื่น


“อย่างช่วงพักเที่ยงด้านหน้าโรงแรมเราก็จะปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้าเข็นรถมาตั้งขายของกัน นักท่องเที่ยวชอบ Street Food อยู่แล้ว เวลามาพักที่นี่เขาก็แฮปปี้ หรือคนไทยที่เป็นพนักงานออฟฟิศย่านนี้ก็มาซื้อด้วย มันดีตรงที่เหมือนเราอยู่แบบพึ่งพาอาศัยกันในชุมชน ในย่านของเราเอง”
หากฟังจากมุมมองจากเขา นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่ต้องยอมรับก็จริง แต่ในการเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้เลวร้ายทั้งหมดเสมอไป เพราะการจะเก็บรักษาโรงแรมไว้ทั้งโรงแรมคงเป็นเรื่องไม่ง่าย ขณะที่ต้องแข่งขันทางธุรกิจบนพื้นที่ที่อะไรก็เป็นเงินเป็นทองไปหมดอย่างถนนสุขุมวิท จะเห็นได้ว่าในกรุงเทพฯ โรงแรมประเภท R&R น้อยแห่งที่ยังคงเปิดบริการและเก็บรักษาความดั้งเดิมเอาไว้ หลายแห่งต้องเลิกหรือเปลี่ยนกิจการไป หลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างงานออกแบบสถาปัตยกรรมก็สูญหายไปด้วยอย่างน่าเสียดาย หากเจ้าของกิจการรายเล็กต้องดิ้นรนกันเอาเองโดยที่หน่วยงานภาครัฐฯ ไม่มีส่วนช่วยสนับสนุนหรือผลักดันเรื่องการอนุรักษ์ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง


“ยอมรับว่ามีช่วงเฟลบ้างเหมือนกัน เพราะพอเราโตขึ้นมาเห็นช่วงที่โรงแรมมันเก่า มันโทรม ขณะที่โรงแรมอื่นเขาทันสมัย เราก็อยากได้บ้าง คุยกับเพื่อนเรายังมีเขิน มีอายบ้างที่โรงแรมเราเก่า เลยมีอยู่พักใหญ่ที่ผมหันไปจับธุรกิจอสังหาฯ อื่นๆ ไม่ได้ยุ่งกับที่นี่เลย จนกระทั่งคุณพ่อซึ่งเข้ามาดูเเลต่อจากคุณปู่คุณย่าเริ่มเห็นศักยภาพว่าเราน่าจะทำได้”
“เจ้าของต้องใจรักจริงๆ เพราะเราสู้กับอะไรมาเยอะมาก ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายยุค หลายเหตุการณ์ ทั้งภัยพิบัติ โรคระบาดต่างๆ แล้วยิ่งเดี๋ยวนี้เชนใหญ่มาเล่นตลาดที่พักแบบ Premium Budget กันด้วย การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมยิ่งดุเดือด พูดตามตรงคือธุรกิจโรงแรมไม่ได้กำไรมาก กำไรได้มาก็วนกลับไปที่งานปรับปรุงหมด ถ้าไม่ได้เป็นเชนใหญ่จริง หรือเจ้าของรักจริงก็คงอยู่ไม่รอด”


“ถ้าถามว่าทำไมถึงเลือกที่จะเก็บรักษาโรงแรมนี้ไว้ ก็เพราะคุณพ่อและทุกคนในบ้านมีความผูกพันกับโรงแรมตั้งแต่จำความได้ แล้วเรามีความเห็นร่วมกันว่าอยากจะสืบสานต่อจากคุณปู่คุณย่าที่เป็นผู้ริเริ่มธุรกิจมาอย่างยากลำบาก แม้แต่บุคคลากรของโรงแรมทุกคนก็ทำงานและผูกพันกันแบบครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น หลายคนเป็นคนเก่าคนแก่ที่ทำงานมาตั้งแต่ยุคแรกๆ ทุกวันนี้ก็ยังอยู่กับเรา ผมเชื่อว่าถ้าเราพร้อมฝ่าความท้าทายนี้ไปด้วยกัน ก็น่าจะสามารถลบคำสบประมาทที่ว่าธุรกิจส่วนใหญ่จะจบที่รุ่น 3 ได้แน่นอน”
“ส่วนหนึ่งต้องขอบคุณคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนใจเรื่องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและมองเห็นคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องโชคดีมากที่ยังมีคนมองเห็นความสวยงามของมันอยู่ครับ”

ขอบคุณภาพบางส่วนจากโรงแรมไมอามี่
Facebook : Miami Hotel
Website : Miami Hotel