อากาศตอนเช้าของวันอาทิตย์นปลายฤดูฝนเดือนตุลาฯ เย็นฉ่ำปอด เราเลี้ยวรถบนถนนคดเคี้ยวขึ้นเนินไปตาม GPS ผสานสายตากับป้ายบอกทางมาเรื่อยๆ สองข้างทางมีบ้านเรือนหลังเล็กสลับกับผืนดินสีแดงแห้งๆ ที่ชาวบ้านปลูกมันสำปะหลัง ผ่านโรงเรียนประจำหมู่บ้านที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์กแห่งเดียว ทำให้พอใจชื้นว่าจุดหมายของเราอยู่ไม่ไกล
มันไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวอย่างปากช่องหรือเขาใหญ่ หากเเต่เป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ เหนือเขื่อนลำตะคอง ซึ่งแม้จะอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ แค่ประมาณ 200 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น แต่ในอินเตอร์เน็ตกลับมีข้อมูลเกี่ยวกับที่นี่น้อยมากเหลือเกิน
“อยากรวยซื้อหวย อยากสวย…ใช้นวยนาด” สติกเกอร์แปะหลังรถที่จอดอยู่หน้าบ้านช่วยยืนยันว่าเรามาถูกแล้ว

เจ้าของบ้านต้อนรับเราในสตูดิโอของพวกเขา ซึ่งจริงๆ แล้วคือห้องที่ต่อเติมแยกออกมาจากตัวบ้านหลัก มีเสียงน้ำตกไหลซู่ๆ อยู่ไม่ไกล ลมเย็นพัดเอื่อยเฉื่อยเข้ามาจากป่าหลังบ้าน ทำให้หนังตาเริ่มจะหย่อน สมองเหมือนจะหยุดทำงานชั่วขณะ ก็พอดีเจ้าของบ้านมาปลุกเราจากภวังค์ซะก่อน
ปุ้ม – นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ ว่าน – ปกาสิต เนตรนคร คือสองผู้ก่อตั้ง นวยนาด (Nuaynard) แบรนด์สกินแคร์สัญชาติไทยที่ใช้วัตถุดิบจากทั่วถิ่นแดนอีสาน
“เราอยากให้สกินแคร์ของ Nuaynard บอกให้คนทั่วไปรู้ว่า ในภาคอีสานยังมีหมู่บ้านแห่งนี้อยู่ด้วยนะ”
หากไม่บอกก็คงเข้าใจว่าหนุ่มสาวคู่นี้เป็นชาวอีสานโดยกำเนิด และกำลังกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง …เปล่าเลย ทั้งคู่ไม่ได้กลับบ้าน ไม่ใช่คนอีสาน แต่เป็นคนต่างถิ่นจากกรุงเทพฯ ซึ่ง ‘ย้ายบ้าน’ มาอยู่ที่นี่ ที่หมู่บ้านเล็กๆ นามว่า ‘ซับศรีจันทร์’ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา แห่งนี้

1 | จากมาอีสาน
ตรงนี้เป็นบ้านคุณพ่อของว่านมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ครอบครัวของเขามักจะกลับมาพักผ่อนเป็นประจำทุกปี หลังจากคุณพ่อเสีย บ้านก็ถูกปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ด้วยสายงานของว่านที่ทำงานโปรดักชั่น เฮ้าส์ ฝ่ายหาโลเคชั่นสำหรับถ่ายโฆษณา ส่วนปุ้มเป็นนักเขียน ทำให้ทั้งคู่ชอบเดินทางและความสงบของชนบท พวกเขาตัดสินใจว่าจะย้ายมาอยู่ที่นี่ เพราะอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากเอาสิ่งที่ชอบมาอยู่ในชีวิตจริง
“มนุษย์มีสัญชาติญาณการเอาตัวรอดเสมอ อาจมองว่าเราเป็นคนอ่อนแอหรือขี้ขลาดก็ได้นะ แต่วิธีที่เราจะอยู่รอดได้ที่กรุงเทพฯ มันเหนื่อย” ปุ้มกล่าว
“อย่างที่รู้กันว่าอาชีพคนทำโฆษณาอย่างว่านต้องเดินทางตลอด มีความไม่มั่นคงทั้งเรื่องเวลาและการพักผ่อนซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขา กับสายงานของเราที่ถึงจะลาออกจากงานนักเขียนประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ก็ยังรู้สึกว่ายังหาจุดที่พอใจไม่เจอ”
“เราต่างรักในอาชีพของเรา แต่ในเมื่อทุกคนต้องการความมั่นคงในชีวิต แล้วทางเลือกของความมั่นคงก็มีไม่มากนัก งั้นถ้าเลือกได้ เราขอเลือกความมั่นคงทางใจก่อนเเล้วกัน”
พวกเขาตัดสินใจทิ้งเงินเดือน บอกลาเมืองกรุง และครอบครัว ย้ายตัวเองมาอยู่ ณ หมูบ้านเหนือเขื่อนลำตะคองแห่งนี้ แล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมันมาก่อน

2 | ‘ซับ’ ในดิน
ช่วงรอยต่อระหว่างเปลี่ยนจากงานประจำมาเป็นฟรีเเลนซ์ ปุ้มมีงานอดิเรกอย่างหนึ่งคือการทำสบู่ที่บ้านของเธอในกรุงเทพฯ เมื่อตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่นี่ ปุ้มและว่านสร้างสตูดิโอเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อเริ่มต้นทำแบรนด์ ‘นวยนาด’ สกินแคร์ที่คิดจากวิธีการ ‘ใช้ชีวิต’ ของพวกเขาเอง
“เราคิดกันว่ามีอะไรบ้างที่จะเอื้อต่อการใช้ชีวิตได้บ้าง สิ่งไหนช่วยให้เราทำงานง่าย มีขอบเขตหรือข้อจำกัดอะไร นวยนาดเริ่มต้นจากการเป็นสกินแคร์ แต่ความจริงแล้วนวยนาดเป็นอะไรก็ได้ เพราะมันคือชีวิตเราที่นี่ แล้วเราจะสร้างมูลค่าอะไรจากสิ่งที่มีอยู่ได้บ้าง”
เริ่มแรก พวกเขาทดลองทำสบู่โดยใช้วัตถุดิบที่หาได้ในภาคอีสาน การทำสบู่ต้องใช้ส่วนประกอบหลักคือน้ำ แต่หมู่บ้านซับศรีจันทร์ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่ชั่วโมงขับรถ กลับไม่มีน้ำประปาใช้
“ที่นี่ไม่มีน้ำประปา แล้วหลายคนก็คิดว่ามันแล้ง ตลอดทางที่มา จะสังเกตว่าชาวบ้านนิยมปลูกมันสำปะหลังกัน แต่จริงๆ มันไม่ได้แล้ง มันแค่ไม่มีระบบการจัดการน้ำที่เสถียรพอเท่านั้นเอง”
ปุ้มเล่าว่า ซับสวรรค์ ซับศิลาทอง และซับศรีจันทร์ ไม่ใช่หมูบ้านที่เเล้งซะทีเดียว เพราะบนแถบนี้มีตาน้ำที่เรียกว่า ‘น้ำซับ’ ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมีต้นน้ำมาจากบริเวณต้นยางนาใหญ่ อายุเกิน 100 ปี รากของมันชอนไชจนหาตาน้ำเจอ ทำให้เกิดเป็นน้ำซับซึ่งเป็นแหล่งน้ำสะอาดตามธรรมชาติ ชาวบ้านที่มาตั้งชุมชนแห่งนี้แรกๆ ใช้ดื่มกัน และจะไปดูดน้ำซับขึ้นมาเก็บไว้เพื่อใช้ในฤดูแล้ง
“เราอ่านเจอว่าต้นกำเนิดของสบู่มาจากการบูชายันต์ แล้วไขมันสัตว์กับขี้เถ้าที่ออกมาจากการเผานั้น พอฝนตก มันก็ชะล้างลงแม่น้ำ แต่แม่น้ำตรงนั้นกลับสะอาด ชาวบ้านใช้ดื่ม ใช้ซักผ้าได้ ถ้างั้นเราก็น่าจะเอาน้ำธรรมชาติมาใช้ในการทำสบู่ได้เหมือนกัน แล้วการที่เราได้น้ำจากธรรมชาติโดยไม่ต้องผ่านระบบอะไรเลย มันบริสุทธิ์มาก คอลเล็กชั่นแรกของเราจึงเป็นสบู่น้ำมันมะพร้าว สบู่น้ำมันมะกอก สบู่น้ำมันรำข้าว ที่ไม่ใส่กลิ่นอะไรเลย ใช้แค่น้ำฝน น้ำซับ กับน้ำมันบริสุทธิ์”


“แต่เราก็ไม่ได้บอกว่าของจากธรรมชาติดีที่สุดนะ อย่างบางคนแพ้เกสรดอกไม้ แพ้ขี้ผึ้ง หรือแพ้น้ำฝนได้เหมือนกัน ธรรมชาติอาจจะเหมาะกับบางคนและไม่เหมาะกับบางคนก็ได้ เราแค่เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง บางคนถามว่าเราเป็นออร์แกนิกมั้ย เราบอกว่าเราไม่ได้เป็น เพราะการจะเป็นออร์แกนิกได้ ต้องมีใบรับรองตั้งแต่วัตถุดิบต้นทาง แต่เราซื้อวัตถุดิบมาจากชาวบ้าน อย่างใบย่านางที่ยายหงวนไปเก็บหลังป่าแล้วเอามาคั้นเอง เราเคลมการเป็นออร์แกนิกไม่ได้แน่ๆ มันแค่เป็นความเชื่อถือและเชื่อใจกัน โดยที่เเบรนด์อย่างเรามีหน้าที่สื่อสารความเชื่อใจนั้นออกไป แล้วลูกค้าจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเขาจะเลือกเอง”
สกินแคร์ของนวยนาด ถูกต่อยอดมาเรื่อยๆ จากน้ำซับของหมู่บ้านซับศรีจันทร์ จนถึงวัตถุดิบใหม่ๆ ที่พวกเขาค้นพบจากท้องถิ่นทั่วอีสาน อย่างสบู่พืชผักสมุนไพรจากคราม อินทรีย์ และหญ้านาง พืชผักที่อยู่ในวิถีชีวิตคนอีสานอย่างเหนียวแน่น หรือแม้แต่ ‘สุราแช่พื้นบ้าน’ วัตุดิบที่เราเชื่อว่าไม่เคยมีสกินแคร์แบรนด์ไหนเคยทำมาก่อน
“’เหล้าอุ’ สุราแช่พื้นบ้านของจังหวัดนครพนม กับ ‘หมากเม่า’ ผลไม้ป่าอีสาน ซึ่งปกติแล้วชาวบ้านเอามาทำเเยมหรือหมักเป็นไวน์ เพื่อจะจำหน่ายได้ทั้งปี ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างอาชีพในชุมชนของเขา เราจับทั้งสองอย่างมาทำเป็นสกินแคร์ในคอลเล็กชั่น ‘สุราแช่พื้นบ้านอีสาน’ เพราะอยากรู้ว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ถูกนำมาเล่าใหม่ คนจะมองมันยังไง มันเป็นทั้งภูมิปัญญา ทั้งวัฒนธรรมที่เราไม่ควรปฏิเสธการมีอยู่ของมัน แล้วมันก็ไม่ควรถูกมองในมิติเดียว แบบนั้นจะไม่สามารพัฒนาอะไรได้เลย เราแค่อยากชวนตั้งคำถามในมิติอื่นๆ สิ่งเหล่านี้”

ไม่เพียงเกิดจากส่วนผสมของทรัพย์ในดินกับภูมิปัญญาชาวบ้าน นวยนาดยังเป็นการรวมตัวกันของช่างฝีมือถิ่นแดนอีสาน ทั้งช่างแกะสลักหินทราย ช่างเซรามิก ไปจนถึงช่างไม้ ที่มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้กับพวกเขา หากจะจำกัดความนวยนาดว่าเป็นสกินแคร์เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว เพราะมันได้ใส่ ‘ชีวิต’ ของผู้คนมากมายที่นี่ลงไปในนั้นด้วย
“เป็นเพราะเราอยู่ที่นี่ และเราเห็นมันในมิตินี้ ถ้าคนอื่นมาอยู่อาจจะเห็นอีกแบบหนึ่งก็ได้ เกษตกรมาอยู่ อาจจะเห็นการปลูกต้นไม้หรือทำสวนอะไรไปแล้ว ถ้านักวิทยาศาสตร์มาอยู่ เขาคงสร้างสิ่งอื่นที่เขาเห็น ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองบริบทของพื้นที่นี้ยังไง”

3 | ชนบท
ปุ้มและว่านพาเราเดินออกมาสูดอากาศตามทางที่ทอดยาวลงไปสู่ธารน้ำตก ต้นกำเนิดเสียงซู่ๆ ลมพัดเย็นเอื่อยเฉื่อย ว่านออกตัวว่าเขายังไม่มีเวลาจะถางหญ้ารกๆ ที่เห็นนี่สักที ถึงอย่างนั้น บางวันในฤดูร้อนที่น้ำแห้งกว่านี้ ถ้ามีเพื่อนแวะมาบ้าน เขาก็จะพากันเดินลงมานั่งบนโขดหิน จิบอะไรเย็นๆ หรือนอนงีบอยู่บนนั้นได้ทั้งวัน
“ตอนมาอยู่ใหม่ๆ เราซื้อต้นไม้กันเป็นบ้าเป็นหลัง อยากให้บ้านล้อมไปด้วยป่าน่ะครับ (หัวเราะ) ซื้อเครื่องตัดหญ้ามา กะว่าจะตัดเอง แต่ความเป็นจริงแค่สตาร์ทก็ไม่ติดแล้ว แถมตัดไปใบมีดหักอีก เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นหินหมดเลย จนกระทั่งต้นปีที่ผ่านมา ไฟป่าลามมาถึงหลังบ้าน ไอ้ต้นไม้ที่เราซื้อมาปลูกแม่งหายหมดเลย ดีว่าชาวบ้าน-ซึ่งก็คือยายหงวน มาช่วยปัดให้ไฟมันไปทางอื่นซะก่อน” ว่านชี้ให้ดูอาณาเขตแนวป่าธรรมชาติที่เกือบจะเป็นส่วนเดียวกันกับบริเวณบ้านของเขา มีเพียงธารน้ำตกกั้นกลางอยู่
“พอไฟป่ามาครั้งนั้น เราเคลียร์ใจตัวเองได้หมดเลย ต่อให้ปลูกให้ตายยังไง ถ้าปัจจัยไม่ได้ก็คือไม่ได้ เราไปมองแต่ปลายทาง วาดฝันอย่างเดียวว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอไม่ได้ เลยกลายเป็นความทุกข์มากกว่า”

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะลงหลักปักฐานกันที่นี่ ว่านเล่าว่าเขาถึงขั้นไปลงเรียนคอร์สเตรียมตัวกลับบ้าน แต่มันกลับไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการสักเท่าไร “ด้วยความที่พื้นฐานเราน้อย ครอบครัวไม่มีใครทำเกษตรมาก่อน บางทีคุยกับคนอื่น เขาปลูกอะไรกันไปถึงไหนแล้ว เรายังนึกภาพไม่ออกเลย เราเรียนรู้ได้ แค่พื้นฐานเราไม่มี เลยใช้เวลานานกว่าคนอื่น ตอนนี้เราปรับความคิดใหม่ ทำเท่าที่ได้ ปลูกผักแปลงเล็กๆ ขึ้นก็ขึ้น ไม่ขึ้นไม่เป็นไร ไปซื้อผักชาวบ้านก็ได้อุดหนุนเขาด้วย ตัดหญ้าเองไม่ไหวก็ให้ลูกยายหงวนมาช่วย เขาก็มีรายได้นิดหน่อยจากเรา เราจินตนาการได้ แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาอยู่กับความเป็นจริง”
“เราต้องตรวจสอบกำลังกายกำลังใจของตัวเองกันตลอดเวลา เพื่อให้เรามีกำลังเหลือพอไปช่วยคนอื่นด้วย สำหรับบางคนการเติบโต เดินหน้าเร็วๆ อาจจะเหมาะกับเขา แต่สำหรับเราอดทนเดินไปอย่างช้าๆ มันรู้สึกว่าใจเราสงบกว่า ค่อยๆ อดทนและรื่นรมย์กับความช้าของมัน” ปุ้มกล่าว
ภาพชีวิตในชนบทที่เราถูกทำให้เช่ือมาตลอดจากสื่อโฆษณาต่างๆ บางครั้งก็เป็นภาพของความลำบากแร้นแค้น บ้างการ Romanticize ให้สวยงามราวกับนิยาย แต่ภาพการอยู่ชนบทในชีวิตจริงของปุ้มกับว่านกลับไม่ได้เป็นทั้ง 2 แบบที่ว่านั้นเลย
“ภาพชนบทที่รับรู้มาตลอด เรารับรู้ในมิติของนักท่องเที่ยว เราโตมาในเมือง การมาต่างจังหวัดหมายถึงท่องเที่ยวพักผ่อน พอมาใช้ชีวิตอยู่จริงๆ มันไม่เหมือนกัน มีคัลเจอร์ช็อกบางอย่างเช่นเรื่องระบบสาธารณูปโภค ตอนอยู่ในเมือง เราใช้ชีวิตโดยแทบไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ สิ้นเดือนก็แค่จ่ายบิลน้ำไฟ แถมมีพ่อแม่ที่บ้านคอยจัดการให้อีก แต่สำหรับที่นี่ เราข้ามเรื่องพวกนี้ไปไม่ได้ทั้งที่อยากจะข้าม จึงทำได้แค่ค่อยๆ ยอมรับความจริง”
“เรายังปรับตัวทุกวัน พอพ้นเรื่องหนึ่งก็เจอเรื่องใหม่ เรียนรู้ไปทีละเรื่อง มันยากตรงที่เรามีชุดความคิดความเชื่อแบบคนเมืองที่เกาะตัวมานาน เลยมีทั้งความคาดหวังและไม่เป็นดังหวัง”

ปุ้มเล่าว่า ตอนมาอยู่แรกๆ เธอเคยอาบน้ำโดยการไปหาบน้ำมาใส่โอ่ง นุ่งกระโจมอกอาบหน้าบ้านมาแล้ว ทุกวันนี้พวกเขาอาบน้ำจากเครื่องปั๊มน้ำ ใช้เครื่องดูดฝุ่นแทนไม้กวาด (เพราะว่านเป็นภูมิแพ้) พวกเขาอนุญาตให้ตัวเองเดินห้างฯ ได้เมื่ออยากเดิน เข้าร้านกาแฟดริป ซื้อของจากตลาดชาวบ้าน และนอนดู Netflix ได้ในบางคืนที่อยากดู ทั้งคู่เรียนรู้ที่จะอยู่อย่างเป็นมิตรกับชนบท เคารพวิถีของธรรมชาติ โดยไม่ปล่อยให้เทคโนโลยีหรือความเจริญมาเป็นศัตรู
“การมาอยู่ที่นี่ไม่ได้หมายความว่าเราคอนโทรลอะไรๆ ได้ทั้งหมด มันไม่ได้เป็นอย่างใจไปซะทุกอย่างหรอก แต่เรากลับรู้สึกพอใจ พอใจในการคอลโทรลอะไรไม่ได้แบบนี้แหละ”
ต่อให้ไม่ใช่ที่ซับศรีจัทร์ ต่อให้เป็นหมู่บ้านอื่น จังหวัดอื่น พวกเขาก็ยังคงเป็น ‘คนทำคอนเท้นต์’ ที่จะมองหาแง่งามของทุกที่ที่ไปอยู่ แล้วพยายามหาวิธีเล่ามันออกมา
“เพราะเราเป็นมนุษย์ที่ไหนก็ได้ อยู่ที่ไหนเราก็เป็นมนุษย์ที่นั่น”


ปุ้มและว่านชี้ให้เราดูพืชที่ตายไปเมื่อตอนไฟป่า อยู่ๆ ปีนี้ฝนก็เยอะ จนบางต้นกลับงอกขึ้นเองใหม่ ธรรมชาติคงมีกลไกของมันเอง แค่ทุกอย่างต้องใช้เวลา
“แล้วพอคลียร์ใจตัวเองได้ ชีวิตที่นี่ก็เริ่มชัดขึ้น” หนุ่มสาวชาวซับศรีจันทร์บอกเรา


นวยนาด (Nuaynard)
หมู่บ้านซับศรีจันทร์ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
โทร. 098 – 858 – 5505
Facebook : n u a y n a r d
Website : http://www.nuaynardhandcraft.com/