บนถนนมิตรภาพ ตั้งแต่อำเภอปากช่อง จนถึงอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา นอกจากเพิงร้านขายอาหาร ขายของฝากตามข้างทางแล้ว ไม่ถึงกับต้องสังเกตมากนัก ก็จะพบร้านรับแกะสลักหินทรายเรียงรายอยู่ตลอดแนวสองข้างทาง
นอกจากหมี่โคราช ‘หินทราย’ ยังเป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของเมืองโคราช คนโคราชผูกพันกับหินทรายมาตั้งแต่ในประวัติศาตร์ พระนอนเก่าแก่อายุนับพันปีองค์ใหญ่ ณ วัดธรรมจักรเสมาราม อำเภอสูงเนิน ก็ทำจากหินทราย เช่นเดียวกับงานประติมากรรมตามวัดวาอาราม สถานที่สำคัญ สถานที่ราชการ แม้แต่บ้านทั่วไป คุณก็อาจที่ก็อาจจะพบหินทรายอยู่ในรูปแบบของรั้วบ้านหรือตุ๊กตาหินหน้าบ้านได้เหมือนกัน หินทรายที่คนโคราชคุ้นเคย มักจะถูกแกะสลักเสลาเป็นรูปองค์พระ รูปเทพเจ้า รูปพญานาค ช้าง ไม่ก็รูปสิงสาราสัตว์ตามตำนานความเชื่อต่างๆ

ชีวิตของหินทรายจะมีมูลค่าสูงจริงๆ ก็ต่อเมื่อมันกลายไปเป็นงานปะติมากรรมสักชิ้น ส่วนหินทรายกองมหึมาที่เหลือจากการแกะสลักตามที่ต้องการแล้ว จะถูกกองทิ้งไว้ ทับถมกันหนาชั้นไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีมูลค่าอะไร รอแค่วันที่จะมีใครสักคนมารับมันไปถมที่ถมทาง หรือไม่ก็นอนรอให้มีเศษหินทรายชิ้นใหม่ๆ มาทับลงไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าอยู่อย่างนั้นไม่จบสิ้น
หินก้อนเดียวกัน มาจากภูเขาลูกเดียวกัน แต่มันกลับถูกตีมูลค่าต่างกันขนาดนั้น โดยที่ค่าแรงของช่างแกะหินทรายทั่วไปก็ไม่ได้สูงมากนัก ถ้าเทียบกับการที่มันได้ชื่อว่าเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทั้งเวลา ทั้งประสบการณ์ และความชำนาญไม่น้อยเลย

‘นวยนาด’ (N u a y n a r d) แบรนด์สกินแคร์สัญชาติไทยที่ใช้วัตถุดิบจากถิ่นแดนอีสาน ก็สะดุดตากับหินทรายเหล่านั้นเหมือนกัน ตั้งแต่สองหนุ่มสาวผู้ก่อตั้ง ปุ้ม – นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ และ ว่าน – ปกาสิต เนตรนคร จากกรุงเทพฯ มาลงหลักปักฐานสร้างแบรนด์ของตัวเองในหมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่าซับศรีจันทร์ ในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ตามนิสัยของคนที่เคยทำงานสายคอนเท้นต์ ทั้งคู่มีความสงสัยว่า นอกจากองค์พระและรูปแกะสลักแล้ว หินทรายพวกนี้สามารถ ‘เป็น’ อย่างอื่นได้อีกหรือไม่ ทั้งคู่พยายามค้นหาความเป็นไปได้ว่าถ้าหินทรายกลายมาเป็นชิ้นงานที่เล็กลง ถ้ามันไม่ได้เป็นพระพุทธรูปแล้ว มูลค่าและคุณค่าของมันจะเป็นอย่างไรต่อไป

1 | ความเป็นไปได้
เศษหินทรายที่เหลือทิ้งจากการเเกะสลักงานประติมากรรมอยู่ในความสนใจของปุ้มและว่านมาตลอด วันหนึ่งพวกเขาทดลองหยิบเศษหินทรายนำมาล้างและแช่น้ำ พบว่าฟองอากาศเล็กๆ ค่อยๆ ผุดออกมา ลักษณะเดียวกันกับก้านหวายที่นำมาทำเครื่องหอมกระจายกลิ่นหรือ Diffuser
“เราเห็นต่างประเทศเขามีแบรนด์เครื่องหอมที่ทำ Diffuser จากหินภูเขาไฟ แล้วถ้าเราลองนำหินมาทรายที่เราหาได้ในบ้านเรามาสร้างโปรดักใหม่ๆ แบบนี้ดูบ้างล่ะ”
ความเป็นไปได้ของหินทรายจึงเกิดขึ้นจากตรงนั้น

2 | การเดินทางของหินทราย
เราปักหมุดมาตามคำบอกเล่าของปุ้มและว่าน เดินทางมาเจอกับ เกียรติ – เกียรติศักดิ์ ศรีไว ช่างหินเจ้าของร้านรับแกะสลักหินทรายริมถนนมิตรภาพขาออก ไม่ไกลจากหมู่บ้านซับศรีจันทร์ของทั้งคู่มากนัก
ช่างเกียรติหรือพี่เกียรติ เป็นช่างหินคนเดียวในโคราชที่ตอบรับไอเดียของนวยนาดแทบจะในทันที ทั้งที่ตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าหินทรายจะสามารถแปลงร่างเป็นอย่างอื่นได้จริงหรือเปล่า เพราะไม่เคยมีช่างหินคนไหนเคยคิดหรือทำอะไรแบบนี้มาก่อนเหมือนกัน
เราย่ำดินสีแดงฉาน เข้ามาสู่ ‘ออฟฟิศ’ ของพี่เกียรติ ไม่ไกลจากริมถนนใหญ่ ออฟฟิศของเขาไม่ได้มีโต๊ะเก้าอี้สักตัว มีแค่พงหญ้าติดป่า กับโรงก่ออิฐที่ใช้ทำงานเล็กๆ ไม่มีอะไรเลย นอกจาก หิน หิน แล้วก็หิน…

หลังจากหย่อนก้นนั่งลงบนหินก้อนใดก้อนหนึ่งในนั้นได้แล้ว พี่เกียรติก็เล่าให้เราฟังว่า เขาเป็นคนจังหวัดมหาสารคามโดยกำเนิด ตอนจากบ้านเกิดที่สารคามมาแรกๆ เขาเคยไปทำงานอยู่แถวตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ฝึกปรือฝีมือการแกะสลักหินอยู่ที่โน่นนานกว่า 5 – 6 ปี ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่อำเภอสีคิ้วแล้วเปิดร้านรับแกะสลักหินทรายของตัวเองที่นี่ ช่างหินตั้งแต่ปากช่องจนถึงสีคิ้ว ส่วนใหญ่เป็นคนบ้านเดียวกันกับเขา มาจากสารคาม และรวมตัวเป็นกลุ่มช่างหินสีคิ้วที่ทุกคนรู้จักกันหมด พี่เกียรติบอกว่า สีคิ้วคือทำเลที่ดีที่สุดในประเทศ สำหรับงานแกะสลักหินทราย เพราะที่ตำบลคลองไผ่ เป็นแหล่งที่มีบ่อหินทรายเเหล่งใหญ่ที่สุดในโคราช
“หินทรายที่อ่างศิลาก็เป็นหินทรายแบบเดียวกันกับที่โคราชนี่แหละครับ เขามาสั่งหินจากที่นี่ไปเหมือนกัน งานก็คล้ายกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครอยู่ใกล้ฝั่งไหนก็ไปซื้อฝั่งนั้น แต่แถวนั้นเริ่มไม่ค่อยมีใครทำแล้ว เพราะช่างส่วนใหญ่ที่เคยอยู่อ่างศิลาก็เป็นคนสารคามบ้านผมเหมือนกัน เดี๋ยวนี้ย้ายมาอยู่โคราชกันหมด” พี่เกียรติเล่า

ตามธรรมชาติของหินทราย จะมีด้วยกัน 4 สี สีชมพู เขียว เหลือง และสีขาว โดยจะมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไปอีก เช่น หินสีเหลืองกับสีเขียวจะทนทานกว่าเพื่อน แต่ก็มีราคาสูงที่สุดในบรรดาหินทรายสีต่างๆ เพราะเป็นสีที่หายากที่สุด และมีบ่อหินสีเขียวเพียงบ่อเดียวแถว อำเภอปากช่องที่ได้สัมปทานให้สามารถขุดเจาะได้
เมื่อได้รับออร์เดอร์มา ช่างหินสีคิ้วจะต้องเดินทางไปเลือกหินด้วยตัวเองที่บ่อ หินจะถูกระเบิดออกมา มีทั้งแบบที่ตัดเป็นบล็อกไว้แล้ว และแบบที่ช่างต้องเดินทางไปสั่งเจาะ พี่เกียรติบอกว่า ช่างส่วนใหญ่มักจะไปเลือกขนาดของหิน และไปเลือกลวดลายของหินด้วยตัวเอง เพราะถ้าสั่งหินจากบ่อมาส่งที่ร้าน อาจจะไม่ได้ขนาดตามที่ต้องการ หรือไม่ก็อาจได้หินที่มีตำหนิ ลวดลายไม่สวย โดยเฉพาะหินสีขาวที่มีตำหนิจุดดำๆ ค่อนข้างเยอะตามธรรมชาติของมัน ซึ่งช่างอย่างพี่เกียรติต้องอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมมานานในการคัดเลือกลายหินเหล่านี้
ถ้าหินขนาดไม่ใหญ่ ช่างจะขนกลับมาทำงานที่ร้าน แต่ถ้าขนาดใหญ่มากๆ ยากต่อการขนส่ง ช่างหินถึงกับต้องลงไปทำงานแกะกันที่บ่อเลยทีเดียว แล้วจากนั้นจึงส่งงานที่เเกะเสร็จเเล้วให้ลูกค้า “ลูกค้าส่วนใหญ่จะสั่งหินสีขาว สีเหลือง กับสีชมพู เพราะคนนิยมมากหน่อย ช่างจะไม่ค่อยแนะนำให้ลูกค้าสั่งสีเขียวหรอกครับ มันหายาก ราคาสูง ช่างเองก็ต้องบวกค่าลงไปเอาหินถึงปากช่อง ราคาของหินสีอื่นๆ ที่ไม่ใช่สีเขียวก็จะถูกลงมา”


ใน ‘ห้องทำงาน’ ของพี่เกียรติมีพระพุทธรูปที่แกะเสร็จสมบูรณ์แล้วอยู่องค์หนึ่ง เราถามเขาว่าราคาขององค์พระแบบนี้อยู่ที่เท่าไร
“ถ้าองค์นี้ก็… หนึ่งแสน”
เราขยี้หูซ้ำอีกรอบ ใช่แล้ว! หนึ่งแสน เป็นแค่ราคาเริ่มต้นของงานแกะองค์พระเท่านั้น พระหนึ่งองค์ขนาดหน้าตัก 1 เมตร 50 ราคาในตลาดจะสูงถึง 130,000 – 150,000 บาทเลยทีเดียว พี่เกียรติบอกว่า นี่คือราคาปกติขององค์พระ โดยที่ค่าแรงของช่างหินทรายจะคิดเป็นงานเหมาแยกต่างหากในราคาเริ่มต้นที่ 35,000 บาท ขึ้นอยู่กับฝีมือและชั่วโมงบินของช่างแต่ละคน การแกะพระพุทธรูป 1 องค์ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 เดือน กว่าจะเสร็จสมบูรณ์อย่างที่เห็น

พี่เกียรติเล่าว่า เขาเคยมีรายได้สูงสุดจากการรับงานแกะสลักพญานาคให้กับวัดกว่า 1 ล้าน 5 แสนบาท เลยทีเดียว ครั้งนั้นเป็นครั้งที่เขาถึงกับต้องลงไปกินนอนอยู่ในบ่อหินทรายเป็นเดือนๆ เพราะการเคลื่อนย้ายหินขนาดใหญ่อย่างนั้นค่อนข้างลำบาก ปัจจุบันงานแกะพญานาคชิ้นนั้นตั้งอยู่ที่วัดป่าอภิญญา อำเภอชุมพวง ในโคราชนี่เอง เป็นผลงานที่เขาเองภูมิใจมากๆ ชิ้นหนึ่ง
การเดินทางของหินทรายก็เท่านี้เอง เหมือนกราฟชีวิตที่ขึ้นสูงสุดและร่วงหล่นกลับลงสู่พื้นดินที่มันจากมา กลายเป็นเศษหินไร้ราคาที่รอวันทับถมกันไปไม่รู้จบสิ้น เว้นแต่ว่าจะมีใครสักคนมองเห็น แล้วหยิบมันขึ้นมาฟื้นชีวิตให้อีกครั้งหนึ่ง


3 | จากหินสู่ดาว
แล้วความเป็นไปได้ของเศษหินทรายก็เริ่มต้นขึ้น วันที่นวยนาดมาถึงห้องทำงานของพี่เกียรติเพื่อบอกว่า พวกเขาต้องการฝาครอบเทียนหอมที่ทำจากหินทราย สำหรับคอลเล็กชั่นใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นความตั้งใจที่จะสนับสนุนทั้งวัสดุและช่างฝีมือจากท้องถิ่นอีสานให้มากที่สุด
พี่เกียรติบอกว่าตอนนั้น เขาตอบรับงานของนวยนาดโดยแทบไม่พูดอะไรมาก แค่รู้ว่าอยากลอง แล้วลงมือทำเลย “ตอนที่นวยนาดมา เขาก็จะบอกผมว่าขอลายแบบนี้ เอาสีชมพูแบบนั้นนะ เพราะหินสีชมพูกับหินสีขาวจะมีลวดลายสวย แต่หินสีเขียวกับสีเหลืองจะไม่มี แต่ละชั้นหินจะมีลายต่างกันไป” พี่เกียรติชี้ให้เราดูริ้วลายของหินสีชมพูก้อนใหญ่ที่เรานั่งจ๋อมอยู่นั่นเอง
แต่การจะแกะอะไรขึ้นมาสักชิ้นโดยไม่มีแบบชิ้นงานมาให้ เป็นงานค่อนข้างยากสำหรับช่างหินส่วนใหญ่ พี่เกียรติบอกว่าช่างจะไม่ถนัดดูจากภาพสเก็ตช์ เพราะไม่สามารถคำนวนขนาดได้ถูกต้อง การแกะจากรูปลอยตัวมาแล้ว ช่างจะทำงานได้ง่ายกว่า และแกะได้เหมือนกว่า ด้วยคุณสมบัติของหินทรายที่ค่อนข้างเปราะบาง กระเทาะง่าย ฝาครอบเทียนหอมถูกปรับแก้ความบางของมันนับครั้งไม่ถ้วน จนผ่านไปเป็นปี กว่าจะได้ฝาที่มีความบางเฉียบขนาด 0.4 – 0.5 เซนติเมตร ให้กับเทียนหอมของแบรนด์นวยนาดที่มีด้วยกันถึง 4 กลิ่น รับกับสีของหินทรายทั้ง 4 สี


ลายหินสวยๆ ที่เห็นก็มาจากความชำนาญและประสบการณ์ของพี่เกียรติในการเลือก เขาจะรู้ว่าชั้นหินตรงไหนตัดออกมาแล้วได้ลวดลายพอดีกับโปรดักของนวยนาด ลายของฝาครอบเทียนจะออกมาลวดลายไม่เหมือนกันเลย นั่นหมายความว่า ถ้าหมดล๊อตหนึ่งไปแล้ว ลายแบบนั้นก็อาจจะหาไม่ได้อีก
“แรกๆ ก็ปรับแก้กันเยอะ ใช้เวลานานอยู่กว่าจะลงตัวเหมือนอย่างทุกวันนี้ ผมทำงานนี้คนเดียวเลย ถ้าให้ลูกน้องทำเขาอาจจะทำไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าจะทำยังไงให้หินมันบางขนาดนั้นโดยที่ไม่แตกซะก่อน พอทำไปเรื่อยๆ เออ มันก็ไม่ยากนะ แต่เเรกๆ ก็ยากอยู่ (หัวเราะ)” พี่เกียรติเล่า

เศษหินชิ้นนั้น บวกกับฝีมือของ ‘สตูดิโอนายธง’ ศิลปินเครื่องเครื่องเคลือบดินเผาชาวโคราช ซึ่งใช้ดินที่มีเอกลักษณ์เฉพาะจากอำเภอด่านเกวียน กลายเป็นเทียนหอม ‘Aroma Candles’ ที่คว้า DEmark หรือ Design Excellence Award 2019 รางวัลด้านงานออกแบบระดับโลกเมื่อปีที่แล้วมาได้สำเร็จ และส่งออกไปจำหน่ายไกลในหลายประเทศ


แต่ไม่ใช่แค่นั้น ยังมี ‘Sandstone Diffuser’ หรือ ‘หินทรายกระจายกลิ่น’ ผลงานออกแบบคอลเล็กชั่น Isan Material ที่นวยนาดทำร่วมกับดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น Mr. Koike Atsushi นำเศษหินทรายมาพัฒนาเป็นงานออกแบบร่วมสมัย และอยู่ในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นกว่าเดิม ความมหัศจรรย์ของ Diffuser หินทรายชิ้นนี้ยังถูกออกแบบมาให้เป็นแบบรีฟิล (Refill) ใช้แล้วก็สามารถเปลี่ยนเป็นชิ้นใหม่ได้ เป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ ต่อวรจรชีวิตของหินทรายให้ยืนยาวขึ้น และพิสูจน์แล้วว่ามันสามารถ ‘เป็น’ อะไรได้มากกว่าที่มันเคยเป็น ด้วยฝีมือของพี่เกียรติ… ช่างหินแห่งโคราช

4 | ช่างหิน
“ถ้างานเล็กๆ ฝุ่นไม่เท่าไร ถ้างานใหญ่ๆ ฝุ่นมันจะเยอะมาก งานเล็กผมก็รับ ชิ้นเดียวก็รับ ไม่เกี่ยง (ยิ้ม)”
จนถึงวันนี้พี่เกียรติเป็นช่างแกะสลักหินมานานกว่า 20 ปี แล้ว ช่างหินที่เป็นคนเก่าคนแก่จากสารคามซึ่งทำมานานพอๆ กับพี่เกียรติ ตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นเถ้าแก่ เปิดร้านของตัวเอง มีลูกน้องมากมายกันหมด พี่เกียรติบอกว่าพอหมดคนรุ่นเขา อาชีพช่างหินทรายอาจจะยังมีอยู่ แต่อาจเป็นช่างชาวกัมพูชาที่เข้ามาในยุคหลังๆ แทน
“คนมันจะเริ่มหายไปแล้วครับ เด็กรุ่นใหม่เขาก็ไม่มาทำแล้ว เพราะมันลำบาก ฝุ่นเยอะ ต้องใช้ผีมือเยอะ ใช้ความอดทนเยอะ หลังจากผมก็ไม่น่ามีคนสืบต่อ ลูกผมเขาก็อยากไปทำงานอย่างอื่น ผมก็ไม่อยากให้ลูกมาอยู่กับฝุ่นหรอก”


“แต่ทุกวันนี้ออร์เดอร์มันก็เข้ามาน้อยลงกว่าเมื่อก่อนมาก อาชีพนี้มันไม่หายไปไหนหรอก คนทำน่ะสิจะหาย ทั้งที่คนซื้อก็พอมี ทุกวันนี้ผมไม่ค่อยได้ทำงานใหญ่ๆ แล้ว ให้ลูกน้องเขาทำ แต่งานเล็กๆ ยังพอทำได้อยู่”
“ผมก็มีความภูมิใจนะ เป็นอาชีพที่ได้รายได้ไม่น้อยหรอก เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัวได้มาถึงทุกวันนี้ มันคืออาชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของสีคิ้วด้วย คิดว่าคงทำไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ตายก่อน (หัวเราะ)”
“พี่เกียรติรู้มั้ยเนี่ย งานพี่โกอินเตอร์แล้วนะ” เราแซว
“เขาก็มาบอกผมเหมือนกันครับ” ช่างหินวัย 44 แห่งโคราช เจ้าของออร์เดอร์งานแกะหินทรายทั้งในประเทศ จนถึงประเทศเพื่อนบ้านหัวเราะเขินๆ


ติดตามโปรดักที่พี่เกียรติทำร่วมกับแบรนด์นวยนาด ได้ที่ : https://www.nuaynardhandcraft.com