ความโหยหาอดีต
กลิ่นอายความวินเทจ
บ้าน Mid-century Modern
จินตนาการถึงคืนวันเก่าๆ
สถานที่ที่เราไม่มีวันได้เข้าไป





เทพ – ธัญญเทพ สุวรรณมงคล น่าจะเป็นคนหนึ่งที่รู้จักสถานที่ที่บรรจุสิ่งเหล่านี้เอาไว้ดีกว่าใคร เพราะอาชีพของเขาคือการเป็นผู้จัดการโลเคชั่น หรือ Location Manager ผู้มีหน้าที่ออกตามหาโลเคชั่นสำหรับถ่ายทำให้กับกองถ่าย ไม่ว่าจะเป็นโฆษณา หนัง ละคร เอ็มวี ซีรีย์ ทั้งไทยเทศที่เห็นตามสื่อต่างๆ ล้วนผ่านมือ ผ่านตา ผ่านการเสาะหาของเขามาหมด
ผลผลิตของการทำอาชีพ ‘คนโลฯ’ มากว่าครึ่งชีวิตของเทพถูกนำมาบันทึกไว้ในเพจ Theplocation ราวกับเป็นการ
ทริบิวต์ให้กับสถานที่ต่างๆ ที่เขาพบเจอทั้งในการทำงานและระหว่างทาง รวมถึงผู้คนที่เกี่ยวข้องกับมันทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต เรื่องราวที่เขานำมาเล่าเหมือนเป็นหลักฐานว่าครั้งหนึ่งเคยมีสถานที่บางแห่งอยู่ บางแห่งไม่อยู่แล้ว บางแห่งกำลังจะหายไป และมันสะท้อนภาพความเป็นไปของเมืองที่ชื่อว่า ‘กรุงเทพฯ’ แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี

ส่ง – โล – มา
เทพเริ่มทำอาชีพโลเคชั่นมาตั้งแต่อายุ 25 ที่โปรดักชั่นเฮ้าส์ชื่อ Matching Studio ในยุคที่วงการโปรดักชั่นเฮ้าส์กำลังเบ่งบาน พร้อมกับกล้องฟิล์มคู่ใจหนึ่งตัว ฟิล์ม 1 ม้วน 36 รูป ออกตามหาโลเคชั่นตามโจทย์ที่ได้รับ แค่ ‘ส่ง-โล-มา’ เขาหาได้หมด!
“แผนกเรามีกันอยู่ 8-9 คน เราเข้าไปเป็นฝ่ายโลเคชั่น เป็นพนักงานประจำเลย ทำอยู่ที่นั่นประมาณ 6-7 ปี จนกระทั่งบริษัทปิดตัว แล้วออกมาเป็นฟรีเเลนซ์จนถึงทุกวันนี้”
วิธีการทำงานของเทพในยุคอนาล็อก คือการออกไปหาโลฯ ตามโจทย์ ไปไหนก็ได้ แต่สี่โมงเย็นต้องกลับออฟฟิศเพื่อมาล้างฟิล์ม พอหกโมงเย็นก็เดินไปรับรูปที่ร้าน (นึกภาพตามว่าสมัยนั้นล้างรูปออกมาเป็นอัลบั้ม) แล้วมากางฟิวเจอร์บอร์ดเรียงรูปแต่ละบ้านที่เขาไปทีละบ้าน จากนั้นก็นั่งรอพรีเซ้นต์งานอีกทีตอน 2 ทุ่ม
“ชีวิตเป็นรูทีนแบบนี้แหละ สมัยนั้นการพรีเซ้นต์งานคือเขาอยากเห็นอะไร ห้องไหน ก็ต้องให้คนที่อยู่ในห้องประชุมทั้งหมดเห็นภาพ เพราะเราเป็นคนเดียวที่ไปเห็นสถานที่ ถึงขนาดต้องวาดแปลนบ้าน วาดแผนที่กันเลย สมัยนี้คือแค่ถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ จะเอาพาโนรามาขนาดไหน ส่งไลน์กลุ่มได้ทันที มันเร็วกว่ากันมาก”
“ยิ่งในกรุงเทพฯ มีตรอกซอกซอย มีอะไรดีๆ ซ่อนอยู่เยอะไปหมด การหาโลฯ ต้องนั่งมอ’ ไซค์หรือเดินถึงจะเจอ ซึ่งงานของเราส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่า เพราะเวลามีโจทย์ให้ไปหาโลฯ ตามต่างจังหวัด เช่นพวก ‘หนังรถ’ ที่เห็นในโฆษณารถยนตร์ รถกระบะที่ชอบขึ้นเขาลงห้วย เห็นน้ำกระเด็น ซึ่ม ซึ่ม อะไรแบบนั้นน่ะ จะมีพี่คนหนึ่งในบริษัทที่เขาถนัดหาโลฯ เเนวนั้นอยู่ พี่เขาหาต่างจังหวัดไป ส่วนผมหากรุงเทพฯ เลยอาจเป็นการแบ่งงานกันจากตรงนั้น ทำให้เราเชี่ยวชาญกรุงเทพฯ มากกว่า”

“บางทีได้โจทย์ให้หาครัวโมเดิร์น แล้วจะรู้ได้ไงวะว่าบ้านไหนมีครัวโมเดิร์น วิธีการคือต้องไปตามหมู่บ้านใหญ่ๆ ไปดูว่าบ้านหลังไหนมีความน่าจะเป็นที่จะมีครัวโมเดิร์น เราก็จะคาะบ้านหลังนั้น แนะนำตัวว่าเป็นใคร มาจากไหน บางทีเจ้าของบ้านก็ติดต่อกลับ บางทีก็ไม่ หรืออย่างให้ไปหาทุ่งนา เราไม่รู้หรอกใช่มั้ยทุ่งนาของใคร ก็ขับรถเข้าไปกลางนาเลย แล้วสักพักเจ้าของเขาจะออกมาเอง หลักการของการหาโลฯ คือ ‘เห็นว่ามันน่าจะถ่ายได้’ แค่นี้แหละ แค่ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่าทุกที่มีเจ้าของหมด แค่เราจะเห็นหรือไม่เห็นเท่านั้นเอง” เทพบอกว่า คนโลฯ มักจะมี ‘DNA พิเศษ’ ที่สามารถคุยกับคน และทำให้คนรู้สึกไว้วางใจได้
“จริงๆ แล้วงานโลเคชั่นเป็นงานที่ต้องใช้สกิลประสานงานกับการบริหารจัดการเยอะมากเลยนะ ยิ่งถ่ายที่ยากๆ ยิ่งมีปัญหาให้ฝ่ายโลเคชั่นเเก้ตลอด ที่จอดรถไม่พอ น้ำไม่ไหล ไฟดับ ส้วมตัน นึกถึงโลเคชั่นก่อนเลย”
โล เทพ เทพ
เริ่มแรกเพจ Theplocation เป็นความตั้งใจของเทพที่อยากเล่าเรื่องโลเคชั่นต่างๆ ที่เขาได้ทำงานด้วย แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นเรื่องราวระหว่างทางที่เขาไปค้นเจอโดยบังเอิญ ทั้งสถานที่และผู้คนที่อยู่ตรงนั้น และทำให้เขารู้สึกอยากบันทึกบางอย่างถึงมันเอาไว้
“น่าจะเริ่มจากตอนได้โจทย์ให้ไปหาบ้านในซอยราชวัตร พี่คนหนึ่งบอกว่า ‘มึงเข้าไปดูบ้านในซอยราชวัตรนะ จำซอยไม่ได้แล้ว แต่ปากซอยมีวินมอ’ ไซค์ จะมีบ้านเก่าอยู่หลังหนึ่งทางขวา มีต้นไม้เยอะๆ บ้านตรงข้าม…สวย’ ไอ้เราก็แบบ ‘บอกแค่นี้กูจะรู้มั้ยวะ (หัวเราะ)’ งมไปงมมาจนเจอเจ้าของบ้าน เขาก็เล่าประวัติบ้านหลังนั้นให้ฟัง ปรากฏว่า ‘เห้ย มันมีเรื่องราวว่ะ’ นี่เราเข้ามารับรู้เรื่องราวแบบนี้ได้ยังไง”
“เลยเป็นที่มาว่าถ้าระหว่างทางเราไปเจออะไรแบบนี้เเล้วมีเรื่องราวที่เล่าให้คนอื่นฟังได้ เราก็จะเล่า เขียนเอาไว้เพื่อที่อย่างน้อยเราเองจะได้กลับมาอ่าน และส่วนหนึ่งคืออยากเก็บไว้ให้ลูกสาวอ่านด้วย ที่เอามาลงในเพจคือโลฯ ที่ไม่ได้ใช้ทั้งนั้นแหละ แต่เราว่ามันเป็นที่ที่คนไม่ค่อยเคยเห็น”
เทพเริ่มทำเพจ Theplocation อย่างจริงจังมาเรื่อยๆ ด้วยการเล่าถึงคนกับสถานที่ผ่านมุมมองของเขา โดยมีภาพถ่ายแบบ ‘เวรี่ อินไซด์’ ของที่แห่งนั้นซึ่งมีแต่คนทำโลฯ เท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เข้าไปเห็น แล้วมันก็สร้างความรู้สึก ‘เวรี่ ว้าว’ ให้คนอ่านอย่างเราว่ามีสถานที่แบบนี้อยู่จริงๆ เหรอ ชวนให้อยากติดตามต่อว่าเขาจะไปเจอโลฯ เทพ เทพ ที่ไหนอีกบ้าง



จนมาถึงโพสต์หนึ่งที่เขาเขียนถึงสถานที่ซึ่งเคยเกิดโศกนาฏกรรมเมื่อหลายปีก่อน โพสต์นั้นทำให้คนเข้ามาอ่านและแชร์กันมากมาย ทว่าสุดท้ายกลับต้องถูกลบไปเนื่องจากมีประเด็นบางอย่างที่ค่อนข้างเปราะบาง แต่จากตรงนั้นนั่นเองที่ทำให้คนรู้จักเพจ Theplocation มากขึ้นจนมีผู้ติดตามมากกว่า 2 หมื่นคนอย่างทุกวันนี้
“เราอยากให้มันเป็นคอมมิวนิตี้ที่คุยกันได้ และเราสามารคุยกับลูกเพจแบบที่เป็นตัวเองได้เหมือนกัน หลายครั้งที่มีคนแท็กเรียกเพื่อนมาอ่าน บางคนได้มาเจอกันอีกทีในเพจเรา บางคนมาเล่าต่อว่าเขาเคยรู้จักหรือมีความผูกพันกับสถานที่นั้นยังไง มันเลยกลายเป็นพื้นที่ที่ให้คนได้มาคุยกัน แล้วเขาก็รู้สึกว่าคุยกับเราได้ด้วย”
“เราไม่รู้หรอกว่าโพสต์ไหนลงไปคนจะชอบ อะไรที่ไม่ได้คาดหวังมันจะมาเอง อันไหนตั้งใจมาก มักจะกริบ (หัวเราะ)”
Good Lo – Old Day
บ้าน Mid-century / หน้าต่างยุค Space Age / อพาร์ตเม้นต์สไตล์ Bauhaus เราเชื่อว่าถ้าใครได้อ่านเพจ Theplocation ก็คงจะรู้สึกถึงกลิ่นอายวินเทจและความฝันถึงอดีตอันสวยงามของสถานที่เหล่านี้ไม่ต่างกัน หลายครั้งที่เทพเล่าเรื่องสถานที่บางแห่ง เช่น บ้านเก่า โรงแรมเก่า โรงหนังเก่า หลายแห่งถูกรื้อไปแล้ว บางแห่งอยู่ในสภาพทรุดโทรม หลายแห่งเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เหลือแต่ความทรงจำ เราสงสัยว่าแล้วคนโลฯ อย่างเขาที่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะรู้สึกกับมันอย่างไร
“เราทำงานมาสิบกว่าปี เห็นการทุบตึกไปต่อหน้าต่อตามาเยอะเหมือนกัน อย่างล่าสุดที่กำลังจะปิดตำนานในเร็วๆ นี้
ก็โรงเรียน ACC (โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ) อีกแห่งที่เราเสียดายมากคือโรงเรียนปานะพันธุ์วิทยา ที่มีสถาปัตยกรรมสวยมาก แต่ปัจจุบันพื้นที่นั้นเปลี่ยนเป็นห้างฯ ไปแล้ว หรืออย่างสยามสแควร์ที่เราเดินกันมาตั้งแต่เด็ก ตอนนี้มีตึกมีอะไรขึ้นเต็มไปหมด เป็นอีกแห่งหนึ่งที่จะเห็นความเปลี่ยนผ่านของพื้นที่ได้ชัดเจนมาก”
“เราว่าสถานที่พวกนี้มัน ‘ทัช’ คนทุกยุค แล้วพอวันหนึ่งมันหายไป คนก็เลยรู้สึกว่าทำไมถึงไม่มีหน่วยงานหรือภาครัฐฯ มาซับพอร์ตเรื่องนี้อย่างจริงจังบ้าง อย่างล่าสุดหนังสารคดีที่พูดถึงโรงหนังสกาล่าซึ่งเพิ่งรื้อทิ้งไปเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาจากชาวต่างชาติที่เขามองเรา มันก็น่าคิดนะว่าทำไมเขายังเห็นคุณค่า ทำไมเขายังเสียดายเลย”
“ส่วนหนึ่งที่ทำให้ความวินเทจกลับมา อาจมาจากการที่คนโหยหาอดีตหรือเรื่องราวของสถานที่ที่มันหายไปพวกนี้ด้วย”

เราถามเขาว่าการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยที่ทำให้พื้นที่เปลี่ยนไปด้วยแบบนี้ ทำให้คนโลฯ ทำงานยากขึ้นหรือไม่
“ยาก ยิ่งหนังพีเรียดยิ่งทำงานยาก ยกตัวอย่างเช่นที่เวิ้งนาครเขษม เป็นโลฯ ที่หนังฝรั่งชอบมาถ่ายกันมากๆ ตึกข้างในที่เห็นพวกนั้นคือสวยมาก วินเทจมากเลยนะ แล้วรู้มั้ยว่าโลฯ สวยๆ แบบนี้ยิ่งเก่ายิ่งเเพง แต่สุดท้ายมันก็ต้องเปลี่ยนผ่านไปเป็นอย่างอื่น”
“มีหลายที่ที่เขาเปิดเป็นเชิงพาณิชย์ให้เช่าถ่ายไปเลย เช่นโรงแรมเก่าที่ไม่ได้ดึงดูดคนให้เข้ามาพักเหมือนสมัยก่อน เขาเลยต้องรีโนเวทให้ใหม่ขึ้น โมเดิร์นขึ้น แต่การรีโนเวทใหม่ก็ไม่ได้มีบรรยากาศเหมือนเดิมแล้ว เสน่ห์มันหายไป ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก แต่เราก็เข้าใจ เพราะธุรกิจเขาก็ต้องอยู่ให้ได้เหมือนกัน”
จากประสบการณ์ของคนทำโลฯ เทพบอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะเจอสถานที่เก่าที่ยังเก็บความ ‘เดิมๆ’ เอาไว้
“พอเราทำงานเกี่ยวกับสถานที่ เราจะรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างมาก ก็เลยเกิดเป็นคำถามว่ามันอยู่ด้วยกันไม่ได้จริงๆ เหรอ ไอ้ความเก่ากับความใหม่เนี่ย เราเห็นที่ต่างประเทศ อย่างสิงค์โปร ฮ่องกง ทำไมตึกเก่าตึกใหม่มันอยู่ด้วยกันได้ อาจเป็นเพราะเขาให้ความสำคัญกับเมือง ให้ความสำคัญกับของเก่า เขาเห็นเรื่องราวของมัน”
“คอยดูสิ เดี๋ยวจะมีอะไรหายไปอีกแน่นอนในอนาคต”
กลิ่นของความหวัง
ช่วงนี้หลายคนในกรุงเทพฯ เริ่มพูดกันถึงความหวัง
เราจึงถามเทพว่าเขาหวังจะเห็นความเปลี่ยนเปลงอะไรเกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ บ้าง ทั้งในฐานะคนทำโลเคชั่นที่เห็นความเปลี่ยนผ่านของพื้นที่มาตลอด และฐานะพลเมืองคนหนึ่งของเมืองนี้
“อยากเห็นกรุงเทพฯ ดีขึ้น” เทพตอบแบบไม่ต้องหยุดคิด “เราเคยคิดว่ามันน่าจะมี District for Film”
“เเนวคิดคืองี้” เขาอธิบายต่อ “คือกรุงเทพฯ มี 50 เขตใช่มั้ย แล้วทำไมเราไม่มีสถานที่ในแต่ละเขตที่น่าจะเป็นโลเคชั่นสำหรับถ่ายทำได้อีกล่ะ เพราะเราว่ากรุงเทพฯ นอกจากเรื่องของของกินแล้ว ทุกเขตยังมีของดีอื่นๆ อีกเยอะนะ”
“รุ่นพี่เราคนหนึ่งเคยไปถ่ายงานที่นิวยอร์ก เขาบอกว่าที่นั่นจะมีหน่วยงานหนึ่งที่รับประสานงานเรื่องกองถ่ายโดยเฉพาะ เช่น สถานที่นี้ใครดูแล ต้องประสานกับใคร อนุญาตให้ใช้แค่มุมไหน วางของได้ตรงไหนบ้าง แบบนั้นเลย แล้วคิดเงินกันเป็นระบบจริงๆ แต่พอเป็นกรุงเทพฯ หน้าที่ประสานงานมันคือเรา บางทีเราไม่รู้ว่าต้องดีลกับใคร ซึ่งเราเสียดายว่าสถานที่บางแห่งแทบไม่มีคนรู้ว่าข้างในสวยขนาดไหน และมีความเป็นไปได้ว่าน่านอกจากจะน่าเอามาใช้เป็นโลฯ ถ่ายหนังแล้ว ก็น่าจะทำให้เกิดเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ หรือเทศกาลอะไรได้อีกเยอะแยะเลย”


เราลองนึกภาพตามว่าหากกรุงเทพฯ มีหน่วยงานที่คอยซับพอร์ตอุตสาหกรรมบันเทิงอย่างจริงจัง และสิ่งที่เขาพูดมาสามารถเป็นไปได้ นอกจากจะเป็นการจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้จริงแล้ว ก็น่าจะเป็นการสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้กับคนในประเทศได้ไม่น้อยเลย เราถามเขาว่าพอจะเป็นไปได้ไหมในฐานะคนทำคอนเท้นต์ ที่จะขับเคลื่อนความคิดนี้ให้เกิดขึ้นจริง
“เราว่ามันต้องมีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง ซึ่งตอนนี้ก็มีหน่วยงานหรือกลุ่มคนที่เขากำลังพูดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน และเราเชื่อว่าเขาขับเคลื่อนมันได้ดีกว่าเราแน่นอน ส่วนเราก็ทำหน้าที่เล่าเรื่องคนกับสถานที่ต่อไป มันเหมือนเขาไดรฟ์ข้างนอก เราไดรฟ์ข้างใน ต่างคนต่างไดรฟ์ให้ดีที่สุดในจุดของตัวเอง”
“เพจที่เราทำ แค่คิดว่าอย่างน้อยมันก็ช่วยสะกิดใจคนได้ว่าสถานที่นั้นมันยังอยู่ หรือมันไม่อยู่แล้ว ก็อาจขับเคลื่อนได้นิดหน่อย แต่คงไม่ถึงกับเกิดเป็น ‘ขบวนการห้ามทุบตึก’ หรืออะไรขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ)”
ทำโล
ทำโล
ทำโล
เพจ Theplocation ดำเนินมาถึงปีที่ 11 แล้วก็จริง แต่เมื่อไม่นานมานี้เทพเพิ่งแนะนำตัวอย่างเป็นทางการกับลูกเพจของเขา… ซึ่งเราเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่เคยรู้เลยว่าอาชีพคนทำโลฯ นี้มันคืออะไร หรือแม้กระทั่งไม่เคยได้ยินว่ามีอาชีพนี้อยู่บนโลก เขาผู้ทำโลเคชั่นมาตั้งแต่อายุ 25 จนถึงตอนนี้ในวัย 45 บอกว่ามันเป็นอาชีพเดียวที่ตัวเองทำมาตลอด และจะทำต่อไป
“เอาจริงๆ เพื่อนเรายังบอกเลยว่าอีกสิบปีจะเกษียรแล้ว พวกเราจะทำอะไรกันต่อดีวะ บอกตรงๆ ก็คิดไม่ออกเหมือนกัน ไม่มีภาพในหัวอย่างอื่นเลย เพราะทำสิ่งนี้มาตลอดชีวิต” เทพบอกว่าการมองโลกของเขาในวัยนี้เปลี่ยนไปอย่างมากจากตอนที่อายุ 25 “เรารู้ตัวว่าชอบงานโปรดักชั่นตั้งแต่แรกแล้วก็ทำโลเคชั่นอย่างเดียว ไม่ทำอย่างอื่น ตื่นเช้า ตี 3 ตี 4 วิ่งรถออกหาโลฯ ชีวิตเป็นแบบนี้มาตลอด ตอนเด็กๆ เราคิดว่างานสำคัญ เราสำคัญกับงาน ไม่มีเราเขาอยู่ไม่ได้ ตอนนี้ความคิดมันเปลี่ยน ถึงเขาไม่มีเรา เขาก็มีคนอื่น แต่ถ้าครอบครัวไม่มีเรา… ไม่ได้”
“มีหลายคนที่อยากเป็นคนทำโลฯ นะ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นได้ เพราะการจะขึ้นมามีตัวตนในสายอาชีพคนกองจริงๆ มันไม่ง่าย มันทั้งเหนื่อย ทั้งกดดัน เราเสียสละชีวิตส่วนตัวไปกับงานค่อนข้างเยอะ ถ้าได้คู่ชีวิตที่ไม่เข้าใจกันก็พังเหมือนกัน อย่างเราเห็นน้องผู้หญิงมาทำฝ่ายอาร์ต กลับบ้านดึกดื่น ก็คิดในใจว่าถ้าเป็นลูกเรา แล้วเขาชอบทำงานนี้ เราจะบอกเขายังไง เราเองมาถึงจุดที่อาชีพเริ่มประคองตัวได้แล้ว แต่ถ้าสวัสดิการที่ดีมันเกิดขึ้นได้จริงๆ กับคนในสายอาชีพนี้มันก็น่าจะเป็นเรื่องดีนะ”

“แพชชั่นในชีวิตมันเลยมาเปลี่ยนตอนที่เรามีลูกนี่แหละ อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอาชีพโดยตรงนะ แต่มันคือเรื่องชีวิต ชีวิตของคนทำงาน ที่ทำอาชีพนี้ทุกวันก็เพราะอยากให้ลูก ให้ครอบครัวมีชีวิตที่ดี มีความสุข แค่นั้นเอง”
“ความสุขของการเป็น ‘คนกอง’ สำหรับคุณทุกวันนี้คืออะไร” เราถาม
“ถ้าเป็นความท้าทายก็คือการได้โจทย์ใหม่ๆ ที่เราต้องหาให้เจอ มันเหมือนได้กลับไปไดรฟ์อาชีพตัวเองใหม่ อีกอย่างคือเราชอบคุยกับคน แล้วเราถามคำถามที่เขาไม่เคยตอบใคร บางทีอาจเป็นความสามารถพิเศษของคนทำโลฯ ที่เราค้นพบก็ได้”
“ความสุขจากการทำงานทุกวันนี้คือเราหาเลี้ยงครอบครัวได้ ลูกเราได้รับการศึกษาที่ดี การทำงานมันก็คืองานนั่นแหละ ตื่นเช้า ประชุม ออกกอง ฯลฯ พอเป็นงานน่ะ บางอย่างมันก็ไม่ได้สนุกขนาดนั้นจริงมั้ย”
“ยิ่งอายุมากขึ้น งานยิ่งยากขึ้น งานง่ายๆ จะไม่มาถึงเราแล้ว ถ้าไม่ยุ่ง ไม่ยาก ไม่เยอะ ไม่ย้าย ไม่ใหญ่ ไม่มีทางมาหาเรา! (หัวเราะ)”

ขอบคุณภาพบางส่วนจากเพจ : Theplocation